จับตา โรค "ไข้กาฬหลังแอ่น" หลังสสจ.กระบี่ เผยพบผู้ติดเชื้อเข้าข่าย 6 ราย และพบผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย
ข่าวที่น่าสนใจ
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักงานสาธารณสุขกระบี่ แถลงพบ ผู้ป่วยเข้าข่ายโรค “ไข้กาฬหลังแอ่น” ในปอเนาะ 6 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ขณะนี้ อยู่ระหว่างรอผลตรวจห้องแล็บว่าเสียชีวิตจากโรคนี้หรือไม่
จากการสอบสวนพบผู้ต้องสงสัยในโรงเรียนปอเนาะแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อเข้าข่าย จำนวน 6 ราย เสียชีวิต 1 ราย อีก 5 ราย อยู่ในระยะปลอดภัย โดยผู้ป่วยทั้ง 6 ราย อยู่ระหว่างการเพาะเชื้อและรอผลตรวจทางห้องแล็บ เบื้องต้นยังไม่พบผู้ป่วยเข้าข่ายเพิ่ม ขณะนี้ทางอำเภอคลองท่อมได้ประกาศให้พื้นที่โรงเรียนปอเนาะดังกล่าว เป็นพื้นที่ห้ามบุคคลภายนอกเข้าหรือออก
ทั้งนี้ โรงเรียนดังกล่าวมีนักเรียนทั้งหมด 436 คน เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจหาเชื้อบริเวณลำคอ และให้ยาฆ่าเชื้อในการป้องกันโรคทั้งหมด พร้อมให้คำแนะนำในการป้องกันโรคให้กับโรงเรียน ทั้งการให้สวมหน้ากากอนามัย ความสะอาด และลดความแออัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น
โรคไข้กาฬ หลังแอ่น มีอาการเด่น ๆ 3 อย่าง ได้แก่
- มีไข้
- เป็นผื่น
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ผู้ป่วยอาจมีอาการครบทั้ง 3 อย่าง หรือ 2 จาก 3 อย่างนี้ ความรุนแรงของโรคแตกต่างกันได้ อาจมีอาการค่อยเป็นค่อยไป จนถึงรุนแรงรวดเร็ว ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถเสียชีวิตในเวลาอันสั้น
โดยอาการที่พบบ่อย คือ
- ผู้ป่วยมักจะมีไข้มาก่อนประมาณ 2-3 วัน
- มีผื่นขึ้น ลักษณะเป็นจ้ำเลือดเหมือนฟกช้ำ ผื่นอาจมีรูปร่างคล้ายดาวกระจาย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ มักเป็นบริเวณลำตัวส่วนล่าง ขา เท้า และบริเวณที่มีแรงกดบ่อยๆ เช่น ขอบกางเกง ขอบถุงเท้า อาจเป็นที่เยื่อบุตา หรือมือได้
- หากมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะมีอาการ ได้แก่
– ปวดศีรษะรุนแรง
– อาเจียน
– คอแข็ง
– อาจซึมลง ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือสับสนได้
– ไม่ค่อยมีชักหรืออัมพาตบ่อยเท่าเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียอื่น อัตราการเสียชีวิตขึ้นอยู่กับความรุนแรง
วิธีป้องกันโรคไข้ กาฬหลังแอ่นมี 2 วิธี ได้แก่
1. ฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันโรค
- วัคซีนไข้ กาฬหลังแอ่นป้องกันโรคได้เพียงบางสายพันธุ์
- การให้วัคซีนจะได้ผลในบางพื้นที่ที่ทราบสายพันธุ์ของเชื้อ
- ในกรณีให้วัคซีนไม่ครอบคลุมสายพันธุ์ก่อโรคจะไม่ได้ผลในการสร้างภูมิคุ้มกัน ในประเทศไทย
- สายพันธุ์ที่พบบ่อย ได้แก่ สายพันธุ์ A และ B
2. การกินหรือฉีดยาต้านจุลชีพ
- ยาต้านจุลชีพมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรคโดยไม่ขึ้นกับสายพันธุ์ของเชื้อ
- ผู้ที่สมควรได้รับยา เพื่อป้องกันการเกิดโรคไข้ กาฬหลังแอ่น คือ ผู้ที่สัมผัสโรคใกล้ชิดผู้ป่วยเป็นเวลานาน เช่น
– สมาชิกในครัวเรือนเดียวกัน ร่วมห้องนอนเดียวกัน
– เด็กที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็ก
– ห้องเรียนเดียวกับผู้ป่วย
– ทหารในค่ายเดียวกัน
– ผู้สัมผัสผู้ป่วยใกล้ชิดในชุมชน
ดังนั้น ผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดข้างต้นควรแจ้งแก่แพทย์โดยเร็ว แพทย์จะสามารถให้คำปรึกษาแนะนำได้ว่า ผู้สัมผัสโรคสมควรได้รับยาต้านจุลชีพป้องกันหรือไม่ โดยในกรณีทั่วไป ยาต้านจุลชีพป้องกันโรคไข้กาฬ หลังแอ่นได้ผลดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง