อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญ ที่ถูกจากรึกไว้ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ ตลอด 77 ปี ของพรรคประชาธิปัตย์ เปิดฉากเริ่มต้นขึ้น เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ตุลาคม พ.ศ. 2556 …. พลันที่เสียงนกหวีดถูกเป่าให้ดังขึ้น หมายมุ่งต่อต้านการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ นิรโทษกรรม “ฉบับสุดซอย” โดย “พรรคเพื่อไทย” ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือ “นายกปู” นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ซ้ำยังเป็นน้องสาวสายเลือดเดียวกันกับ นายทักษิณ ชินวัตร
เสียงนกหวีดที่ดังกรีดใจคนทั้งประเทศในครั้งนั้น กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการชุมนุมบนท้องถนนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยมีเหล่าขุนพลของพรรคประชาธิปัตย์ ดาหน้าออกมาหัวหอกคนสำคัญ กดดันขับไล่ความไม่ยุติธรรม ที่เกิดขึ้นโดย “น้องสาว” ที่หวังจะพา “พี่ชาย” กลับบ้านอย่างสง่าผ่าเผย
หลักใหญ่ใจความของ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะนิรโทษกรรมความผิดของทุกฝ่ายย้อนหลังไปถึงปี 2547 แต่เหล่าขุนพลพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นชอบ จึงกลายเป็น ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ที่ทำให้ ทุกคนต้องกระโดดเข้ามาร่วมชุมนุม ภายใต้การบริหารจัดการของ 9 อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งต่อมาเรียกตัวเองว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)
“ระบอบทักษิณ” ในวันนั้น ทำให้ประชาชนคนไทยต้องแบ่งฝักฝ่าย หลายคนไม่เข้าใจ ยังคงหลงไหลกับยุทธวิธี “ทำลายล้างชาติ” ส่งผลให้ เหล่าแกนนำต้อง ค่อยๆ ปูพื้นความรู้สร้างความเข้าใจป้อนข้อมูลให้มวลชนต่อเนื่องกว่า 1 ปี ทำให้เกิดการเรียนรู้แบบกลุ่มก้อน ผ่านบททดสอบสำคัญด้วยการทดลองชุมนุม “ข้ามคืน แต่ไม่ยืดเยื้อ”
เหล่าขุนพล “พรรคประชาธิปัตย์” ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้การเมืองภาคประชาชน ด้วยจำนวล “ยอดมวลชนเกินล้าน” ไม่ว่าจะเป็น แคมเปญ “วันมวลมหาประชาชน คนไทยใจเกินล้าน” , มวลชน 9 ทัพเคลื่อนพลบุกทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะประกาศยุบสภา และ ปฏิบัติการ “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ”….. สีสันของการชุมนุมในครั้งนั้น นอกจากเพลงประจำม็อบ ยังมีอุปกรณ์ประกอบการชุมนุมที่ได้ติดไม้ติดมือจากเวที “ผ่าความจริง” ก่อนกลายเป็น สัญลักษณ์ประจำ ของ ม็อบ กปปส. ไม่ว่าจะเป็น “ธงชาติ” , “นกหวีด” , “มือตบ และแฟนชั่นการแต่งตัวด้วยลวดลายธงชาติ ที่สร้างกระแสจุดติดกันไปทั้งประเทศ
เหตุแห่งการประท้วงนั้นหาใช่เพียงการโค่นรัฐบาล “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” แต่แรงจูงใจแท้จริงคือ ต้องการขจัดทุกร่องรอยของอดีต นายทักษิณ ชินวัตร ออกจากอำนาจ ออกจากประเทศ และกำจัดอิทธิพลใด ๆ ที่ยังเหลือค้างอยู่ เพื่อมิให้สร้างความแตกแยกให้กับแผ่นดินไทย … ต่อมา วันที่ 9 ธ.ค. 2556 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตัดสินใจประกาศ ‘ยุบสภา’ แต่ผู้ชุมนุม กปปส.ที่มีแกนนำเป็นนักการเมืองอาชีพ ไม่ยุติการชุมนุมลงง่ายๆ เดินหน้าทำกิจกรรมต่อไป พร้อมกับเริ่มต้นคำขวัญ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” เรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการลาออก พร้อมประกาศจัดตั้งสภาประชาชน ให้ขึ้นมาปฏิรูปประเทศแทน ก่อนจะเริ่มทำกิจกรรมสำคัญๆ เดินทางสู่การขัดขวางเลือกตั้งจนเป็นโมฆะ ฯลฯ