วันนี้(29 พ.ย.65) นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 55/2565 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 2 – 6 ธันวาคม 2565 จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าจะมีฝนตกหนัก ในช่วงวันที่ 3 – 5 ธันวาคม 2565 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง และหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างมีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศมาเลเซียและภาคใต้ตอนล่าง ทำให้บริเวณภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง
"ชลประทาน" เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันพื้นที่ภาคใต้
ข่าวที่น่าสนใจ
กรมชลประทาน ได้เตรียมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ ได้แก่
– จังหวัดระนอง (อำเภอละอุ่น)
– จังหวัดชุมพร (อำเภอปะทิว เมืองชุมพร สวี ทุ่งตะโก หลังสวน ละแม ท่าแซะ และพะโต๊ะ)
– จังหวัดภูเก็ต (อำเภอถลาง และเมืองภูเก็ต)
– จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอกาญจนดิษฐ์ เกาะพะงัน เกาะสมุย และดอนสัก)
– จังหวัดพังงา (อำเภอคุระบุรี ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง)
– จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอขนอม และสิชล)
– จังหวัดตรัง (อำเภอปะเหลียน และหาดสำราญ)
– จังหวัดพัทลุง (อำเภอเขาชัยสน บางแก้ว ปากพะยูน ป่าบอน และเมืองพัทลุง)
– จังหวัดสตูล (อำเภอควนกาหลง ท่าแพ ทุ่งหว้า มะนัง เมืองสตูล และละงู)
– จังหวัดสงขลา (อำเภอกระแสสินธุ์ ควนเนียง จะนะ เทพา บางกล่ำ เมืองสงขลา รัตภูมิ สะบ้าย้อย สิงหนคร หาดใหญ่ นาทวี และสะเดา)
– จังหวัดปัตตานี (อำเภอโคกโพธิ์ ปะนาเระ เมืองปัตตานี แม่ลาน ไม้แก่น ยะรัง ยะหริ่ง สายบุรี หนองจิก กะพ้อ ทุ่งยางแดง และมายอ)
– จังหวัดยะลา (อำเภอรามัน เมืองยะลา และยะหา)
– จังหวัดนราธิวาส (อำเภอเจาะไอร้อง ตากใบ บาเจาะ เมืองนราธิวาส ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ ศรีสาคร สุไหงโก-ลก สุไหงปาดี แว้ง และสุคิริน)
พร้อมทั้งได้กำชับโครงการชลประทานในพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด รวมถึงปรับการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเน้นย้ำการตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งาน บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เตรียมพร้อมรับมือน้ำหลาก และสำนักเครื่องจักรกล จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำ ประจำจุดพื้นที่เสี่ยงให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง