BTS แจงเหตุขึ้นค่าโดยสารครั้งแรกรอบ 5 ปีแบกหนักต้นทุน-เงินเฟ้อ

บีทีเอส แจ้งปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในเส้นทางสัมปทาน 23.5 กิโลเมตร 24 สถานี จากเดิม 16-44 บาท เป็น 17-47 บาท เริ่ม 1 มกราคม 2566 หลังตรึงราคาค่าโดยสารมากว่า 5 ปี เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน แม้ต้องแบกรับต้นทุนและค่าใช้จ่ายมาอย่างต่อเนื่อง ด้าน “สุรพงษ์” ยันการปรับค่าโดยสารเป็นไปตามสัญญาสัมปทาน ไม่เกี่ยวข้องกับภาระหนี้

วันที่ 30 พ.ย.65 นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ได้ให้สัมภาษณ์ทีมข่าว TOPNEWS ถึงการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในส่วนเส้นทางสัมปทาน ระยะทาง 23.5 กิโลเมตร จำนวน 24 สถานี สายสุขุมวิท สถานีหมอชิต –สถานีอ่อนนุช และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ – สถานีสะพานตากสิน รวมถึงส่วนต่อขยายสายสีลม สถานีกรุงธนบุรี และสถานีวงเวียนใหญ่

นายสุรพงษ์ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 บริษัทฯ จะปรับราคาค่าโดยสารที่เรียกเก็บสำหรับรถไฟฟ้าบีทีเอสในเส้นทางสัมปทานจากเดิมที่อัตราเริ่มต้นที่ 16 – 44 บาท เป็น 17 – 47 บาท โดยการปรับราคาค่าโดยสารใหม่นี้ ซึ่งยังต่ำกว่าเพดานอัตราค่าโดยสารสูงสุดตามสัญญาสัมปทานซึ่งอยู่ในอัตรา 21.52 – 64.53 บาท ซึ่งเป็นการปรับขึ้นราคาในรอบกว่า 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2560

ทั้งนี้ ในการปรับขึ้นค่าโดยสารของรถไฟฟ้า บีทีเอส พบว่า ตั้งแต่เปิดให้บริการปี 2542 เป็นเวลา 23 ปี ได้มีการปรับขึ้นราคาเพียง 3 ครั้งเท่านั้น โดยปรับราคาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560 จาก 15 – 42 บาท เป็น 16 – 44 บาท ในปัจจุบัน รวมระยะเวลากว่า 5 ปี ที่บริษัทฯ ไม่ได้มีการปรับราคาค่าโดยสารพื้นฐานที่เรียกเก็บโดยสัญญาสัมปทานกำหนดให้บริษัทฯ สามารถปรับค่าโดยสารที่เรียกเก็บได้ทุก ๆ 18 เดือน โดยไม่เกินเพดานอัตราค่าโดยสารสูงสุด แต่เนื่องจากบริษัทฯ ได้คำนึงถึงผลกระทบของประชาชนจึงได้มีการชะลอการปรับอัตราค่าโดยสาร อย่างต่อเนื่อง

 

 

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ ผลกระทบจากสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ราคาต้นทุนสินค้า โดยเฉพาะด้านพลังงาน อัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ที่สูงขึ้น อัตราค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้นอีกทั้งบริษัทฯ ยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้านต่าง ๆ เช่น ค่าซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ที่มีจำนวนรถไฟฟ้าให้บริการสูงสุดถึง 98 ขบวน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ผ่านมา ทางบริษัทฯ ได้พยายามตรึงราคาค่าโดยสารมาโดยตลอด

สำหรับการปรับขึ้นค่าโดยสารทั้ง 3 ครั้ง ที่ผ่านมา แบ่งเป็น
-ครั้งที่ 1 ปี 2550 ปรับอัตราค่าโดยสารเป็น 15 – 40 บาท จากเพดานค่าโดยสารที่ได้รับอนุมัติในอัตรา 18.79 – 56.36 บาท
-ครั้งที่ 2 ปี 2556 ปรับอัตราค่าโดยสารเป็น 15 – 42 บาท จากเพดานค่าโดยสารที่ได้รับอนุมัติในอัตรา 20.11 – 60.31 บาท
-ครั้งที่ 3 ปี 2560 ปรับอัตราค่าโดยสารเป็น 16 – 44 บาท จากเพดานค่าโดยสารที่ได้รับอนุมัติในอัตรา 21.52 – 64.53 บาท

 

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

นายสุรพงษ์ ยืนยันว่า การปรับขึ้นราคาค่าโดยสารใหม่ที่ 17-47 บาทนั้น ได้ผ่านหารือร่วมกับทางด้าน กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF ) และเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาสัมปทานเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องภาระหนี้กว่า 4 หมื่นล้านบาท ที่บีทีเอสแบกรับอยู่ในขณะนี้

สำหรับผู้โดยสารที่ใช้ บัตรโดยสารเที่ยวเดียว (Single Journey Card) บัตรแรบบิทบุคคลทั่วไป (Adult) บัตรแรบบิทนักเรียน นักศึกษา (Student) จะคิดอัตราเดิมจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และจะเริ่มคิดอัตราค่าโดยสารใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ส่วนบัตรแรบบิทสำหรับผู้สูงอายุ (Senior) จะยังคงได้รับส่วนลด 50% ของอัตราค่าโดยสารปกติ สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางแบบไม่จำกัดเที่ยว และระยะทางต่อวัน สามารถซื้อบัตรโดยสารประเภทหนึ่งวัน (One-Day Pass) ในราคา 150 บาท

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่มีความหลากหลาย อาทิเช่น โปรโมชั่นสะสมพอยท์จากการเดินทางเพื่อแลกเที่ยวฟรี (“บีทีเอส ชาเลนจ์”) นับตั้งแต่ออกโปรโมชั่น เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ถึงปัจจุบัน มีผู้โดยสารแลกเที่ยวฟรีแล้วกว่า 4 ล้านเที่ยว และบริษัทฯ ยังคงมอบความคุ้มค่าแก่ผู้โดยสารอย่างต่อเนื่องกับโปรโมชั่นบีทีเอส ชาเลนจ์ โดยจะเริ่มโปรโมชั่นปีที่ 2 เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2566 ถึง 31 ธันวาคม 2566 ยิ่งเดินทางมาก ยิ่งได้พอยท์มาก แลกเที่ยวฟรีได้ไม่จำกัด พิเศษ 3 เดือนแรก 1 มกราคม 2566 ถึง 31 มีนาคม 2566 ผู้โดยสารรับโบนัสพอยท์เพิ่มจากการเดินทางเพื่อนำไปแลกเที่ยวฟรี ซึ่งจะช่วยให้ค่าโดยสารเฉลี่ยที่จ่ายมีอัตราใกล้เคียงกับอัตราค่าโดยสารเดิม

ก่อนหน้านี้ กรณีของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล หรือ รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ได้มีการขอปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 1 บาท จำนวน 4 สถานี คือ สถานีที่ 6, 9, 11, 12 ทำให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 17 บาทสูงสุด 43 บาท เริ่มวันที่ 3 ก.ค.65 เช่นกัน โดยให้เหตุผลว่าปรับตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่กำหนดในสัญญาสัมปทาน

 

 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.65 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เบรกการขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT ดังกล่าว และให้คงราคาเดิมไปจนถึงสิ้นปี 65 แม้ ครม.มีมติให้ขึ้นก็ตาม เพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว พบปัญหาแนวทางการแก้ไขหนี้ค้างชำระและการบริหารจัดการ มาอย่างยืดเยื้อยาวนาน จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ เป็นรูปธรรม ให้กับบริษัทเอกชน

โดยในส่วนของมูลหนี้จากการที่จากการว่าจ้างให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ที่ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2565 ให้กรุงเทพมหานคร(กทม.) และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT ชำระหนี้จำนวนกว่า 2 หมื่นล้านบาท ให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ไม่นับรวมหนี้ค้างชำระอีกกว่า 2 หมื่นล้านบาท สำหรับค่าติดตั้งงาน ระบบไฟฟ้า/เครื่องกล โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วง หรือช่วงแรกจาก สะพานตากสิน -บางหว้า และช่วงอ่อนนุช –แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 จาก หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และ แบริ่ง-สมุทรปราการ

กระทั่ง บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ได้ตัดสินใจแพร่คลิปความยาวกว่า 2 นาที ในหัวข้อ “คนเราจะอดทนกับการแบกหนี้ได้นานแค่ไหน … ทำงานแต่ไม่ได้เงิน ต้นทุนเพิ่มขึ้นทุกวัน …ผู้มีอำนาจโยนไปโยนมา ไร้การตัดสินใจ ถึงเวลาเข้ามาจัดการปัญหา อย่าหนีปัญหา …อย่าปล่อยให้เอกชนสู้เพียงลำพัง ถึงเวลาจ่ายหนี้ รถไฟฟ้าสายสีเขียว 40,000 ล้าน”

จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมา บีทีเอส แก้ปัญหาดังกล่าวโดยลำพัง เช่น ล่าสุด ได้มีการเสนอขาย “หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน” รวมมูลค่าระดมทุน 20,000 ล้านบาท สำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน นำไปชำระคืนหนี้สถาบันการเงิน และการลงทุนต่างๆ เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน รวมถึงปรับปรุงระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียว และจะนำไปใช้ในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู ซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 66 และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่บริษัท ต้องหาทางทำให้เกิดกระแสเงินสด (cash flow ) เข้ามา

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"กรมวังฯ" ติดตามความสำเร็จ โครงการ "กำลังใจ" ตรวจเยี่ยมเรือนจำกลาง จ.ภูเก็ต เน้นการฝึกอาชีพให้กับผู้ต้องขัง ผู้ถูกคุมความประพฤติ และผู้พ้นโทษ
ถล่มโกดัง! ยึดฝ้ายชุบไอซ์ 1.65 ตัน ตะครุบนกต่อสาวไทย-รอส่งออสเตรเลีย
ตร.จับ 2 เจ้าหนี้ ปล่อยเงินกู้ดอกโหด ลูกหนี้เครียดยิงตัวตายคาหอพัก
รัฐบาลกัมพูชายืนยันไม่เกี่ยวเหตุสังหารอดีตสส.ฝ่ายค้านที่ไทย
“รองผวจ.ประจวบฯ” พร้อมปฏิบัติตามกม. ปมอัลไพน์ ชาวบ้านเชื่อวัดธรรมิการาม ไม่อยากได้ที่ดินคืน
“แสตมป์” รับแล้ว “กลัวติดคุก” ยันโดนขู่ยัดคดี 112 ผวาจนต้องถอนฟ้องคู่กรณี
“Co-op Market Fair พลังสหกรณ์ ขับเคลื่อนสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น By ร้านสหกรณ์กรุงเทพ จำกัด สาขาเอกมัย”พบกับผลิตภัณฑ์สินค้าดีมีคุณภาพของสหกรณ์นำมาจำหน่ายสู่คนเมือง
เที่ยว ‘งานวัดโบราณ’ รับตรุษจีนที่เหอหนาน
บินโดรนโชว์ ‘มังกรร่อน หงส์ไฟรำ’ ในฉงชิ่งของจีน
‘เขาหวงซาน’ ของจีนติดสถานที่น่าเที่ยวปี 2025 ของนิวยอร์ก ไทม์ส

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น