พลิกมุมมองโลกใหม่ “นักวิชาการ จุฬาฯ” ชี้ทำไมไทยควรเปิดต่างชาติ ถือครองที่ดิน ย้ำสิทธิ์รัฐวางเงื่อนไขพัฒนามูลค่า ไม่ใช่ขายชาติ

พลิกมุมมองโลกใหม่ "นักวิชาการ จุฬาฯ" ชี้ทำไมไทยควรเปิดต่างชาติ ถือครองที่ดิน ย้ำสิทธิ์รัฐวางเงื่อนไขพัฒนามูลค่า ไม่ใช่ขายชาติ

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2565 รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าภาควิชา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอมุมมองวิชาการผ่านเว็บไซต์ terrabkk ในหัวข้อ : โอกาสใหม่ หรือ ขายชาติ เมื่อชาวต่างชาติซื้อที่ดินในประเทศไทย โดยระบุว่า ข้อเท็จจริงนั้น มีเกือบ 100 ประเทศทั่วโลกที่อนุญาตให้ต่างชาติมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ เริ่มจากการนำเสนอให้เห็นว่า ประเทศอื่นๆ เป็นอย่างไรบ้าง โดยแบ่งเป็น 1.ประเทศที่ไม่มีข้อจำกัดในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน สำหรับชาวต่างชาติ เช่น สเปน ฝรั่งเศส อิตาลี คอสตาริกา 2.ประเทศที่มีข้อตกลงการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เช่น โครเอเชีย ตุรกี และเกาหลีใต้ เปิดให้เฉพาะบางสัญชาติที่มีข้อตกลงการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน อียิปต์อนุญาตสิทธิการเช่า 99 ปี

ทั้งนี้ ได้นำเสนอต่อไปให้เห็นถึงมาตรการเสริมของแต่ละประเทศเพื่อป้องกันราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้น หรือเพื่อเหตุผลความมั่นคง เช่น สวิส มีการจำกัดจำนวนชาวต่างชาติที่สามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ในแต่ละปี สหราชอาณาจักรมีการเก็บภาษีกำไรจากการขายที่สูงกว่ามากซึ่งเรียกเก็บจากกำไรที่ได้จากการขายบ้านในสหราชอาณาจักรโดยชาวต่างชาติ ส่วนออสเตรเลีย ปัจจุบันจำกัดเฉพาะประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะเป็นโครงการก่อสร้างใหม่เท่านั้น ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายสามารถถูกตัดสินจำคุกหรือปรับจำนวนมาก ศรีลังกา ให้ชาวต่างชาติได้รับอนุญาตให้ถือครองที่ดิน แต่มีภาษีการโอน 100% สำหรับชาวต่างชาติในศรีลังกา ด้านประเทศแคนาดา จังหวัดชายฝั่งตะวันออกอื่นๆ รวมถึงจังหวัดควิเบก ออนแทรีโอ และบริติชโคลัมเบียไม่มีข้อจำกัดในการเป็นเจ้าของในต่างประเทศ ออสเตรเลีย ชาวต่างชาติ ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในออสเตรเลียและบริษัทต่างๆ สามารถซื้อการพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ถึง 50% และได้รับอนุญาตให้ซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือที่ดินใหม่เพื่อสร้างอาคารได้ตราบเท่าที่การก่อสร้างเริ่มขึ้นภายใน 12 เดือนนับจากวันที่ซื้อ สามารถซื้อทรัพย์สินที่เก่ากว่าได้โดยมีเงื่อนไขว่าอย่างน้อย 50% ของราคาซื้อจะใช้ในการปรับปรุง

นอกจากนี้ ในรายงของ รศ.ไตรรัตน์ ยังระบุถึงข้อจำกัดอื่นๆ ในการซื้อที่ดินของต่างชาติ ประมาณ 40% ของ 195 ประเทศ มีข้อจำกัด ในการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เช่น 1.ที่ดินอยู่ห่างจากพรมแดนระหว่างประเทศ เช่น ปานามา ที่ดินอยู่ห่างจากพรมแดนระหว่างประเทศไม่เกิน 6 ไมล์ เม็กซิโก ชาวต่างชาติ ชาวต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ภายใน 62 ไมล์จากชายแดนระหว่างประเทศหรือ 31 ไมล์จากชายฝั่ง สเปน ที่ดินทางทหารและที่ดินใกล้พรมแดนระหว่างประเทศ 2.ทรัพย์สินริมน้ำบางแห่ง นิวซีแลนด์ ที่ดิน “อ่อนไหว” รวมถึงเขตสงวน เกาะที่ระบุ และที่ดินและทะเลสาบทางประวัติศาสตร์หรือมรดก ปานามา การจำกัดที่ดินบนเกาะ ริมชายหาด

สำหรับประเทศที่ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้ในเอเชีย มีดังนี้ 1.มาเลเซีย เป็นที่เดียวที่ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของที่ดินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ อสังหาริมทรัพย์ประเภทเดียวที่ชาวต่างชาติไม่สามารถซื้อได้คือ “อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมรดก” หรืออสังหาริมทรัพย์เก่าแก่ในยุคอาณานิคม ชาวต่างชาติสามารถขอที่พักอาศัยในมาเลเซียได้โดยการลงทุนผ่าน My Second Home Program (MM2H) ซึ่งช่วยให้ชาวต่างชาติได้รับวีซ่า 10 ปี โดยฝากเงินประมาณ 70,000 เหรียญสหรัฐ และเก็บไว้ในธนาคาร

2.เกาหลีใต้ ไม่มีข้อจำกัดมากมายในการถือครองที่ดิน การเปิดกว้างสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศนี้ค่อนข้างสมเหตุสมผลเมื่อพิจารณาถึงความเป็นสากลของเกาหลี ชาวต่างชาติเหล่านี้มักต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของตนเอง สาธารณรัฐเกาหลีนั้นพิถีพิถันในการออกวีซ่าระยะยาว ยกเว้นที่ เกาะเชจู เกาะเล็กๆ แห่งนี้ตั้งอยู่นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของคาบสมุทรเกาหลี เป็นเขตปกครองพิเศษที่อนุญาตให้ทุกคนเข้าชมได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า ในทำนองเดียวกัน เชจูยังมีใบอนุญาตผู้พำนักสำหรับนักลงทุนสำหรับทุกคนที่ต้องการลงทุนอสังหาริมทรัพย์มูลค่าประมาณ 430,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ บนเกาะนี้ ใบอนุญาตผู้พำนักดังกล่าวสามารถนำไปสู่การถือสัญชาติเกาหลีได้

3.ไต้หวัน เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีข้อจำกัดในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินในต่างประเทศเพียงเล็กน้อย การซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไต้หวันไม่ได้ให้สิทธิ์ชาวต่างชาติในการพักอาศัยที่นั่นโดยอัตโนมัติ ต่างจากประเทศมาเลเซีย , เกาหลีใต้ก่อนหน้านี้ซึ่งมีโปรแกรมการอยู่อาศัยสำหรับนักลงทุนบางรูปแบบสำหรับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ชาวต่างชาติจะต้องผ่านช่องทางการย้ายถิ่นฐานปกติเพื่ออาศัยอยู่ในไต้หวันอย่างถาวร ชาวต่างชาติสามารถซื้อบ้านหรือที่ดินที่ยังไม่พัฒนาในไต้หวันได้

4.ญี่ปุ่น ชาวต่างชาติสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่นได้ โดยไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับประเภทของอสังหาริมทรัพย์ ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในชื่อตนเองได้ ทั้งนี้ชาวต่างชาตินั้นจะต้องมีงานทำ หรือทำธุรกิจ หรือใช้วีซ่าประเภทใช้ชีวิตในญี่ปุ่นแบบเต็มเวลา

5.สิงคโปร์ ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของคอนโด บ้าน และที่ดินได้ตามกฎหมาย สิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ง่ายที่สุดในเอเชียในการซื้อคอนโด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวต่างชาติจะได้รับอนุญาตให้เป็นเจ้าของบ้านหรือที่ดินในทางทฤษฎี แต่จริงๆ แล้วการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้อาจเป็นเรื่องยากและมีราคาแพงอย่างเหลือเชื่อในทางปฏิบัติ การจะถือครองที่ดินเป็นคนต่างด้าวนั้นต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการเสียก่อน การอนุมัติดังกล่าวต้องมีการซื้อจำนวนมาก (คิดมูลค่าที่ดินมากกว่า 20 ล้านดอลลาร์) และพิสูจน์ว่าการซื้อดังกล่าว “เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์”

ในรายงานยังได้นำเสนอความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้ให้สัมภาษณ์ว่าภาพรวมการถือกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมของชาวต่างชาติในไทยยังไม่ถึง 49% ตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยเฉพาะยูนิตที่มีราคาไม่เกิน 5 ล้านบาทมีไม่ถึง 10% ที่คนต่างชาติถือครองอยู่ ส่วนยูนิตที่ราคาเกิน 5 ล้านบาทขึ้นไป มีชาวต่างชาติถือครองอยู่ 20% กลุ่มชาวต่างชาติประเภทที่ต้องการ Work from Thailand ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็น Skill Labor , High Technology เราสามารถกำหนดให้กลุ่มคนเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ต่างๆ เช่น EEC เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้เร็วกว่า ปัจจุบันต่างชาติมีการถือครองโดยนอมินีอยู่แล้ว ทำไมเราไม่ทำทุกอย่างให้อยู่บนโต๊ะ อย่าไปทำใต้โต๊ะแบบผิดกติกา บางครั้งการที่เราปฏิเสธความจริง ทำให้ความจริงหลบไปข้างล่าง เป็นตลาดมืด กลายเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ถ้าเรายกขึ้นมาบนดินเพื่อให้รัฐได้ภาษี ได้ค่าธรรมเนียม ได้ทุกอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น

ข่าวที่น่าสนใจ

รศ.ไตรรัตน์ ได้สรุปและคำแนะนำว่า 1.คำพูดที่ว่า “ให้ต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้…เป็นการขายชาติ” นั้น ถือเป็นการพูดที่ไม่ได้ศึกษารายละเอียดของเพื่อนบ้าน หรือ กรณีศึกษาที่ประเทศอื่นๆ เขาทำกัน และเป็นแนวความคิดชาตินิยมยุคสงครามโลก (เก่ามาก) 2.การเปิดให้ต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ประเทศนั้นๆ ได้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นขอบเขตของพื้นที่ รูปแบบการถือครอง คุณสมบัติของคนที่มีสิทธิ์ หรือแม้กระทั่งการผูกรวมกันกับนโยบายส่งเสริมการลงทุน/การทำงาน ถือเป็นสิ่งปกติที่ประเทศต่างๆ ทำกัน 3.เราต้องยอมรับว่า “ความสามารถในการแข่งขัน”ของประเทศไทย เริ่มน้อยลงไปเรื่อยๆ การมีสิทธิ์ในการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นจุดเด่นสำคัญประการหนึ่ง (สิทธิ์ในการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ หมายถึง สิทธิ์ซื้อขายแบบFreehold หรือสิทธิการเช่าระยะยาว Leasehold 60,90ปี) 4.ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะ “สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์” แล้ว (คือมีผู้สูงอายุ>20%) จะทำให้ขาดแคลนคนทำงานทุกระดับ เพราะอีกด้านหนึ่งของสังคมสูงวัยคือ วัยเด็ก วัยแรงงานลดลง การเชิญชวนให้ชาวต่างชาติที่มีความรู้ ความสามารถ มาทำงานถือเป็นนโยบายของประเทศที่ประสบปัญหา “สังคมสูงวัย” เขาทำกัน เช่นประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และกลุ่มประเทศยุโรป

5.ผู้บริโภคในอนาคตคือผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้สูงอายุจากประเทศที่พัฒนาแล้ว การเปิดรับผู้สูงอายุมาเกษียณอายุที่ประเทศไทยแลกกับการถือครองอสังหาริมทรัพย์เป็นเรื่องคู่กัน (ปัจจุบันไทยมีวีซ่าระยะยาว 5+5 ปี แต่ต้องแจ้ง ตม.ทุก 90 วัน) ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการเกษียณอายุ (Retirement Destination) เพราะเรามีจุดเด่นเรื่อง การบริการทางการแพทย์ อาหาร อากาศ ค่าครองชีพ มีจุดอ่อนที่สำคัญคือการถือครองกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หากเรามีกฏเกณฑ์ที่ชัดเจน เช่น พื้นที่เป้าหมาย รูปแบบและราคาของอสังหาริมทรัพย์ จะทำให้ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของผู้สูงอายุที่เกษียณ แล้วจะนำมาสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “สังคมสูงวัย” อีกมากมาย

6.ธุรกิจ “สังคมสูงวัย” มีตั้งแต่การดูแลสุขภาพ อาหารการกิน การตกแต่งบ้าน การท่องเที่ยว การประกันชีวิต เทคโนโลยีในการดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ จะสามารถสร้างงาน สร้างโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย เพราะผู้สูงอายุกลุ่มที่สามารถเดินทางมาเกษียณที่ต่างประเทศได้นั้น มักจะเป็นผู้สูงอายุที่มรายได้สูง มีระบบประกันสุขภาพ มีบำเหน็จ-บำนาญชัดเจน สรุปคือมีกำลังซื้อสูง

7.เราสามารถตั้งกองทุน “การอุดหนุนระหว่างกลุ่ม (Cross Subsidy)” จากค่าธรรมเนียมการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้สูงอายุต่างชาติ มาเป็นกองทุนดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่เหล่านั้นได้ เป็นมาตรการที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่ได้เป็นอย่างดี 8.อย่างไรก็ตามการค่อยๆเปิด ทดลองทำในบางพื้นที่ และบางประเภทของอสังหาริมทรัพย์ น่าจะเป็นสิ่งที่ต้องตัดสินใจเริ่มทำทันที

“ขอขอบคุณ และขอสนับสนุน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ศึกษามาอย่างดีและกล้านำเสนอเรื่องนี้ และขอให้กำลังใจทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการให้สำเร็จโดยเร็ว (อย่างรอบครอบ) ก่อนที่ประเทศไทยจะอยู่ลำดับสุดท้ายการพัฒนา”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เปิดคำพิพากษา “เต้ มงคลกิตติ์” ทำสัญญาประนีประนอม ยอมขอโทษ หมิ่นกล่าวหา “ศักดิ์สยาม”
KIA-PDF ตีวงล้อมพม่า! ทอ.โผล่ช่วย แต่ยิงพลาดเป้า-สอยร่วงพวกเดียวกัน
จังหวัดฉะเชิงเทราปล่อยปลากะพงขาวเสริมทัพ คุมปลาหมอคางดำต่อเนื่อง ชูกินได้-อร่อยด้วย
ห้าดาว คว้า 3 รางวัลใหญ่ 'แฟรนไชส์ยอดเยี่ยมแห่งปี 2024' พร้อมเคียงข้างผู้ประกอบการสู่ธุรกิจมั่นคง
ปลาที่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำญี่ปุ่นล้มป่วยเพราะเหงา
“ดร.เฉลิมชัย” ลงพื้นที่ตรวจราชการโครงการน้ำบาดาลระยะไกล แก้ปัญหาพื้นที่ขาดแคลนน้ำให้แก่ประชาชน ต.นาข่า จ.อุดรธานี
"ไผ่ ลิกค์" ลั่นได้คุยแล้ว ปมดาราดัง ยืมเงินเพื่อน 20 ล้าน ปล่อยกู้ รอเจ้าตัวมาตอบ ย้ำเคยเตือนเรื่องใช้ชีวิตแพง
รองโฆษก รบ.เผย ‘กฎหมายฟ้องชู้’ ใหม่บังคับใช้แล้ววันนี้ ฟ้องหย่า-เรียกค่าเสียหายได้ทุกเพศ
"ตร.ทางหลวงเมืองกรุงเก่า" จับเมียนมา ขนเพื่อนร่วมชาติส่งทำงานในไทย สารภาพสิ้นทำมานาน 1 ปี วิ่งรถกว่า 100 เที่ยว
"ทนายเดชา" เปิดใจ หลังศาลสั่ง คุก 1 ปี รอลงอาญา คดีหมิ่น "อ.อ๊อด" ย้ำไม่มีร้องไห้ ใส่กุญแจมือ รอชำระค่าปรับตามคำพิพากษา

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น