วันที่ 6 ธ.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เยี่ยมชมนิทรรศการ “การจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์” ตามนโยบายของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ให้น่าสนใจ โดยกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายด้านการศึกษาที่จะดำเนินการขับเคลื่อนในปี พ.ศ. 2566 โดยพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมืองและศีลธรรมให้มีความทันสมัย น่าสนใจ เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น และการเสริมสร้างวิถีชีวิตของความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง โดยจะขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วนในการดำเนินการด้านประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง คุณธรรม จริยธรรม ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างระบบการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และการส่งเสริมปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน โดยมีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วยนายนรามินท์ พุ่มพวง นักเรียนโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนายเกียรติกานต์ อินต๊ะแก้ว นักเรียนโรงเรียนสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ นำเยี่ยมชม
นายกฯ ชมนิทรรศการผลงานการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ เน้นย้ำให้นักเรียนภาคภูมิใจ รักความเป็นไทย มีความรู้ เข้าใจประวัติศาสตร์ชาติไทย ชื่นชมการดำเนินงานของ ศธ.-โรงเรียนสังกัด สพฐ. นำนโยบายนายกฯ ไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ
ข่าวที่น่าสนใจ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนิทรรศการ “การจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ประกอบด้วย 4 ประเด็น ได้แก่
(1) กรอบโครงสร้าง 8+1 เป็นการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้สถานศึกษานำไปใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ทั้งในมิติของการจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล และการใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้
(2) การนำเสนอ Best practice จากโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้แก่ โรงเรียนสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ นำเสนอในหัวข้อ “เรียนรู้ประวัติศาสตร์ใกล้ตัว สู่การสร้างสรรค์ชุมชนอย่างยั่งยืน” ที่มุ่งเน้นการหาความรู้จากชุมชนใกล้ตัวของผู้เรียน และจัดทำสื่อถ่ายทอดประสบการณ์ลงสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Podcast TikTok Live เพื่อสร้างการรับรู้ในประวัติความเป็นมา ผลิตภัณฑ์ชุมชน จุดเด่น เอกลักษณ์ และความภาคภูมิใจ การจัดทำสื่อ รวมทั้งโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำเสนอหัวข้อ เรียนรู้อย่างภูมิใจ สู่นักประวัติไทยรุ่นเยาว์
(3) การนำเสนอสาธิตและมอบสื่อบอร์ดเกมส์ จากมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้บอร์ดเกมในกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนหรือกระบวนการเรียนรู้อื่น ๆ ให้ผู้เรียนเกิดความคิดที่หลากหลาย สะท้อนภาพของความคิดสร้างสรรค์ของผู้ออกแบบ นำไปสู่ความรู้ ทักษะ เจตคติ และความสุขของผู้เล่น รวมถึงเกิดความรู้แก่ผู้สอนที่พัฒนาบอร์ดเกมหรือทั้งผู้เรียนและผู้สอนร่วมกันพัฒนาบอร์ดเกม ซึ่งเป็นการสร้างการเรียนรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ ได้อย่างแยบยล ผ่านการเล่นบอร์ดเกมรวมทั้งสร้างปฏิสัมพันธ์ และการเรียนรู้แบบ Active Learning ระหว่างครูและผู้เรียน และระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง สามารถบูรณาการกับหลักสูตรการเรียนตามช่วงชั้นที่บูรณาการเนื้อหาในรายวิชาต่าง ๆ เช่น ภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ คณิตศาสตร์ ส่งผลให้มีทัศนคติ/เจตคติที่ดีต่อตนเอง สังคม ชุมชน ประเทศชาติ
(4) การนำเสนอสื่อและแหล่งเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสื่อประวัติศาสตร์แบบใหม่ ในรูปแบบสื่อการ์ตูนแอนิเมชั่น สื่อบอร์ดเกม และสื่อการเรียนรู้นอกห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual Field Trip) สื่อเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง (AR : Augmented Reality) สื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย เช่น สื่อการ์ตูนแอนิเมชั่น “จิตตนคร” คุณธรรม นำสู่คุณลักษณะอันพึงประสงค์ สื่อการ์ตูนแอนิเมชั่น “สัมมาทิฏฐิ” คำสอนสำคัญเสมือนกุญแจที่จะไขไปสู่พระธรรมคำสอน สื่อการ์ตูนแอนิเมชั่น (Animation) THE DIARY ย้อนเวลาสู่อดีต เพื่อการเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทย สื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ นอกห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual Field Trip) เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย 3 สมัย สื่อเทคโนโลยีภาพเสมือนจริง (VR : Augmented Reality) การเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ ผ่านธนบัตรไทยรัชกาลที่ 10 เรียนรู้ประวัติศาสตร์จากสิ่งใกล้ตัว เป็นต้น
นายกรัฐมนตรีชื่นชมการดำเนินงานการจัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ ของกระทรวงศึกษาธิการ และโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ที่นำนโยบายนายกรัฐมนตรีไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติจนเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเน้นย้ำมุ่งเน้นการเรียนการสอนในทุกวิชาในรูปแบบ Active Learning ระหว่างครูและผู้เรียน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ และพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ไปด้วยกัน รวมไปถึงการศึกษาและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในชุมชนและท้องถิ่น และประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อให้เด็กนักเรียนและเยาวชนได้รู้จักรากเหง้าความเป็นมาของตนเองตั้งแต่อดีตจนพัฒนามาถึงปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้เกิดความรักภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเองและประเทศชาติ ทำให้เกิดความรักสามัคคีและร่วมมือกันในการพัฒนาประเทศไปสู่อนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน พร้อมกับขอให้ครูมีการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีความน่าสนใจอย่างต่อเนื่องให้ทันกับสถานการณ์ และนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการเรียนการสอนให้เกิดประโยชน์สูงสุด
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ชมการสาธิตการใช้สื่อบอร์ดเกมส์และทดลองใช้สื่อบอร์ดเกมส์ พร้อมรับมอบสื่อบอร์ดเกมส์จากนายเชื้อพร รังควร มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง