"น้ำนมแม่" ครั้งแรกของโลก เมื่อทีมวิจัยตรวจพบไมโครพลาสติกมากถึง 75% ผลศึกษาชี้ อันตรายต่อสัตว์ทดลอง และสัตว์ทะเลบางชนิด หวั่นกระทบมนุษย์
ข่าวที่น่าสนใจ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมธิการสาธารณสุขวุฒิสภา อัปเดตสถานการณ์ทั่วโลก เผยข่าวร้าย เมื่อทีมวิจัยจากอิจาลี ตรวจพบไมโครพลาสติกใน “น้ำนมแม่” มากถึง 75% โดยระบุว่า มีรายงานการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในอิตาลี U.Politecnica โดย Dr.V.Notarstefano ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Polymers ได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำนม แม่จากคุณแม่สุขภาพสมบูรณ์ดี 34 คน หลังจากที่คลอดทารกได้ 7 วัน
เมื่อทำการตรวจน้ำนม แม่ด้วยความระมัดระวังไม่ให้ปนเปื้อนพลาสติก ทั้งในขั้นตอนการเก็บ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบไมโครพลาสติก (Microplastic) มากถึง 75% ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยมีรายงานการศึกษาพบไมโครพลาสติกในรก (Placenta) ของแม่ที่ตั้งครรภ์มาแล้วเมื่อปี 2020 และยังมีการศึกษาพบอันตรายของไมโครพลาสติก ต่อสัตว์ทดลอง และสัตว์ทะเลบางชนิดอีกด้วย แต่ยังไม่มีงานวิจัยยืนยันผลเสียกับมนุษย์โดยตรง
อย่างไรก็ตาม การศึกษาหลายชิ้นได้พบว่า พลาสติกประกอบด้วยสารเคมีที่อันตราย เช่น Phthalates ซึ่งทำให้พลาสติกอ่อนนุ่ม และมีผลที่ออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนเพศในมนุษย์ และเคยมีการตั้งข้อสังเกตว่า ทารกที่ดื่มนมจากขวดพลาสติก อาจจะมีเพศสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อโตเป็นวัยรุ่นหรือไม่
ทีมวิจัยดังกล่าวได้พยายามเก็บข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อหาความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวคุณแม่ว่าจะใกล้ชิดกับพลาสติกมากเป็นพิเศษ เช่น
- ทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มจากภาชนะพลาสติก
- หรือต้องใช้ข้าวของในชีวิตประจำวันที่เป็นพลาสติก แล้วพบในไมโครพลาสติกในน้ำนมมากกว่าคนที่ไม่ใช้หรือไม่
- พบว่าไม่มีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกัน
ซึ่งแสดงว่า คุณแม่ได้รับไมโครพลาสติกจากสิ่งแวดล้อมทั่ว ๆ ไป ไม่ได้เกี่ยวกับพลาสติกโดยตรงก็ได้ ซึ่งเป็นสภาวะการณ์ที่ยากจะหลีกเลี่ยง และน่าจะมีความกังวลเป็นอย่างมาก ควรจะมีการศึกษาที่มีขนาดตัวอย่างที่เพิ่มมากขึ้นกว่านี้ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น
ทีมวิจัยยังให้ความเห็นต่อไปว่า ยังคงมีความสำคัญอย่างมาก ที่จะบอกว่านมแม่จำเป็นและมีประโยชน์มากสำหรับการเลี้ยงลูก เพราะแม้จะหนีไปใช้นมวัวเลี้ยงทารก ก็พบไมโครพลาสติกในนมวัวด้วยเช่นกัน และยังอาจจะได้พลาสติกจากขวดนมอีกด้วย ทีมวิจัยได้เรียกร้องให้สังคม ตลอดจนรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ เข้ามาดูแลเรื่องมลภาวะโดยเฉพาะเรื่องพลาสติกอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ ในแต่ละปี พบการผลิตพลาสติกใช้มากถึง 350 ล้านตัน/ปี และมีการทิ้งขยะพลาสติกในมหาสมุทรทั่วไปมากกว่า 250,000 ตันพลาสติกได้กระจายไปอยู่ทั้งบนยอดเขาสูง พื้นราบ และลงสู่ก้นทะเลลึก ยากที่มนุษย์จะรอดพ้นจากพลาสติกไปได้ เพราะ เรากำลังได้รับพลาสติกชนิดเล็ก ผ่านทั้งทาง
- อาหาร
- น้ำดื่ม
- การหายใจ
- และการสัมผัสโดยตรง
ส่วนประกอบสำคัญของไมโครพลาสติก ซึ่งมีขนาด 2-12 ไมโครเมตรนั้น มีสารต่าง ๆ เช่น
- พีวีซี (PVC)
- โพลีเอททีลีน (Polyethylene)
- โพลีโพพิรีน (Polypropylene) เป็นต้น
การศึกษาที่ผ่านมา ก็เคยพบไมโครพลาสติกในสมองคนมาแล้วด้วยเช่นกัน เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า มนุษย์ซึ่งอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีพลาสติกเต็มไปหมดนั้น จะได้รับผลกระทบทางลบมากน้อยอย่างไร และในระยะเวลาสั้นยาวเพียงใด พลาสติกเพิ่งผลิตขึ้นในศตวรรษนี้นี่เอง และในช่วงแรกก็ได้รับการยืนยันว่าไม่มีอันตราย (Inert)
ข้อมูล : ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง