วันที่ 8 ธันวาคม 2565 ท่านจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, Mr.Sano Shotaro ทูตพาณิชย์ สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย,นายธนะเกียรติ นพเกตุ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหัวสำโรงประธานชมรมองค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดฉะเชิงเทรา และ ประธานบริษัท ฮีดากาโยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ได้ร่วมกันในพิธีเปิดโครงการสาธิต สำหรับการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนที่คำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงานเพื่อการรีไซเคิลทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมสำหรับซากยานพาหนะที่หมดอายุการใช้งานในประเทศไทย (ELV Project: End-of-life Vehicles in Thailand)
ซึ่งโครงการสาธิตนี้ ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ลุยรีไซเคิลซากรถทั่วประเทศ โดยจับมือภาครัฐ-เอกชน เน้นทำลายอย่างถูกวิธี นำเหล็กกลับมาใช้ในระบบ ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปัจจุบันมีโรงงานถอดแยกชิ้นส่วนรถยนต์ แบบครบวงจรอยู่เพียง 2 แห่ง คือ บริษัท ฮีดากาโยโก เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และบริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ดำเนินงานตั้งแต่การรวบรวมรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งาน การรื้อชิ้นส่วนยานพาหนะ ตลอดจนการกำจัดของเสียที่เกิดขึ้นจากยานพาหนะ ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากชิ้นส่วนรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพ ทาง กรอ. จะได้ผลักดันให้ธุรกิจชนิดนี้เกิดการขยายตัว
เพื่อลดปริมาณการ นำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ และเป็นการนำทรัพยากรจากการแยกซากรถมาหมุนเวียนให้กลายเป็นชิ้นส่วนที่เป็น ประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม อาทิ ยาง พลาสติก โลหะมีค่าสกัดได้จากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และโลหะที่เป็นเหล็ก ซึ่งในรถยนต์หนึ่งคันมีสัดส่วนเหล็กมากถึง 69% คิดเป็นมูลค่ากว่าสามหมื่นบาทต่อคัน ทั้งนี้ ประเทศไทยมีกำลัง การบริโภคเหล็กอยู่ที่ 19 ล้านตันต่อปี โดยเป็นการนำเข้า 12 ล้านตัน และผลิตเอง 7 ล้านตัน
โครงการสาธิต สำหรับการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนที่คำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงานเพื่อการรีไซเคิลทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมสำหรับซากยานพาหนะที่หมดอายุการใช้งานในประเทศไทย (ELV Project: End-of-life Vehicles in Thailand) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ องค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยี อุตสาหกรรม หรือ NEDO
เพื่อสร้างระบบหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพจากซาก รถยนต์ที่ใช้แล้วในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นต้นแบบการรีไซเคิลทั้งในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชีย ในอนาคต จากความร่วมมือดังกล่าว ได้มีการสรุปทำเป็นคู่มือมาตรฐานการทำงาน (คู่มือการแยกชิ้นส่วน) ตลอดจนแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับการถอดแยกซากรถยนต์
เพื่อเสนอแนวทางการจัดการ เพื่อสร้าง แรงจูงใจให้ผู้ที่มีรถยนต์เก่า นำรถยนต์มาทำลายอย่างถูกวิธี พร้อมทั้งกระตุ้นให้มีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจโดย การซื้อรถยนต์ใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นำไปสู่การเกิดระบบจัดการซากรถยนต์อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทยต่อไป
สราวุฒิ บุญสร้าง ผู้สื่อข่าว ประจำ จ.ฉะเชิงเทรา