ย้ำ สิทธิประโยชน์ สำหรับผู้ที่ถือสิทธิ "บัตรทอง" สปสช. เผย สามารถคัดกรอง 4 โรคมะเร็ง พร้อมรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม รู้ก่อนรักษาได้
ข่าวที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่? วันที่ 10 ธันวาคมเป็นวันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ สปสช. ย้ำสิทธิประโยชน์ที่หลายคนไม่เคยรู้ สิทธิ “บัตรทอง” สามารถใช้รักษาโรคมะเร็งได้ จัดสิทธิประโยชน์คัดกรอง 4 โรคมะเร็ง ได้แก่
- มะเร็งปากมดลูก
- มะเร็งลำไส้ใหญ่
- มะเร็งช่องปาก
- มะเร็งเต้านม
เพิ่มโอกาสรักษาก่อนเข้าสู่ระยะลุกลาม ลดอัตราการเสียชีวิต พร้อมจัดระบบบริการ โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม ช่วยผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาโดยเร็ว
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคมะเร็ง คือ โรคของเซลล์ที่มีการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติกลายเป็นก้อนมะเร็งที่บุกรุกทำลายเนื้อเยื่อใกล้เคียงและกระจายไปยังอวัยวะอื่นได้ ทั้งเป็นโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประชากรทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
จากข้อมูลสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า ปี 2561 มีคนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งรายใหม่ 381 คน/วัน หรือ 139,206 คน/ปี และข้อมูลกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีรายงานคนไทยเสียชีวิต 230 คน/วัน หรือ 84,073 คน/ปี
โดยมะเร็งที่พบบ่อยมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่
- มะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี
- มะเร็งปอด
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
- มะเร็งเต้านม
- และมะเร็งปากมดลูก
เพื่อให้คนไทยตระหนักต่อการป้องกันและลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็ง วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กำหนดเป็นวันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ แม้มะเร็งจะเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตที่สูงมาก แต่ในมะเร็งบางชนิดก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากพบในระยะเริ่มต้นและเข้ารับการรักษาก่อนสู่ภาวะลุกลาม
กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ กองทุนบัตรทอง 30 บาท จึงได้บรรจุการคัดกรองมะเร็งเป็นสิทธิประโยชน์บริการ ประกอบด้วย
1. บริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
- พบมากในหญิงไทย สาเหตุเกิดจากเชื้อ HPV แต่รักษาให้หายได้หากตรวจพบระยะเริ่มแรก
- บริการนี้ครอบคลุมดูแลผู้ที่อายุ 30-59 ปี หรืออายุ 15-29 ปี ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย หรือมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน เป็นต้น
- สามารถเข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap Smear) หรือ ตรวจคัดกรองด้วยวิธี (VIA) หรือ ด้วยวิธี HPV DNA Test ซึ่งเป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่มีประสิทธิภาพและมีความแม่นยำสูง
- มิสิทธิรับบริการตรวจคัดกรอง 1 ครั้ง ทุก 5 ปี
- นอกจากนี้ ยังมีสิทธิประโยชน์บริการวัคซีน HPV ให้กับเด็กนักเรียนหญิงชั้น ป.5 เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก
2. บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
- หากตรวจพบในระยะเริ่มแรกการรักษาก็จะได้ผลดี
- สปสช.บรรจุสิทธิประโยชน์บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ฯ สำหรับผู้ที่อายุ 50–70 ปี
- โดยวิธีตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (FIT Test) จำนวน 1 ครั้ง ทุก 2 ปี
- หากผลตรวจผิดปกติจะได้รับการตรวจยืนยันด้วยการส่องกล้องและการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ
3. บริการคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก
- คนไทยมีแนวโน้มเป็นมะเร็งในช่องปากเพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยที่ไปพบแพทย์ส่วนใหญ่อยู่ในภาวะลุกลาม
- บริการนี้เป็นการค้นหาผู้ป่วย ช่วยลดผู้ป่วยรายใหม่ ทำให้เข้าถึงการรักษาในระยะเริ่มต้น
- สามารถรับการตรวจคัดกรองปีละ 1 ครั้ง
- นอกจากนี้ ยังมีสิทธิประโยชน์บริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์
กรณีผลตรวจคัดกรองมะเร็ง หากพบภาวะเสี่ยงหรือเป็นมะเร็งไม่ว่าจะอยู่ในระยะใด ผู้มีสิทธิ “บัตรทอง” 30 บาท สามารถใช้สิทธิรับการรักษาพยาบาลได้ ซึ่งที่ผ่านมาจากนโยบายยกระดับบัตร ทองสู่หลักประกันสุขภาพยุคใหม่ ได้มีการพัฒนาระบบบริการ โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ (CA anywhere) เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยเร็ว ครอบคลุมทั้งบริการรักษามะเร็ง 11 กลุ่มโรค 21 โปรโตคอล
- บริการระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth) บ
- ริการปรึกษาเภสัชกรทางไกล (Tele pharmacy)
- และการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home Chemotherapy)
ในอดีตมีผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากที่ต้องเสียชีวิตลงจากอุปสรรคค่าใช้จ่าย ที่ผ่านมา สปสช. จึงได้จัดสิทธิประโยชน์โรคมะเร็งครอบคลุมทั้งตรวจคัดกรองที่ช่วยเพิ่มโอกาสรักษาและการรักษาพยาบาลรายการที่เป็นค่าใช้จ่ายสูง ไม่ว่าจะเป็น
- บริการหัตถการ
- ยาเคมีบำบัด
- รังสีรักษาและยามุ่งเป้า เป็นต้น
ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับการดูแลและเข้าถึงบริการที่ดี
ข้อมูล : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง