กว่า 8 ปีแล้วในยุคการบริหารประเทศ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับการเดินหน้าแก้ปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาล มีราคาขายแพงเกินราคาควบคุม ด้วยสารพัดวิธีการ ทั้งการควบคุมคุณสมบัติผู้จำหน่ายสลากกินแบ่งฯ การจัดสรรและการกำหนดโควต้าสลากกินแบ่งฯให้ผู้ค้าแต่ละประเภท จนมาถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจัดจำหน่าย ในรูปแบบออนไลน์ แต่ดูเหมือนว่าราคาสลากกินแบ่งฯ ยังเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างจริงจัง มากยิ่งไปกว่านั้นมูลค่ารายได้การจัดจำหน่ายสลากกินแบ่งฯจำนวนมาก ที่ควรเป็นผลประโยชน์โดยตรงของภาครัฐ ยังถูกกลุ่มทุนบางรายเข้ามากอบโกยไปเป็นกำไรมูลค่ามหาศาลในรูปของธุรกิจค้าสลากออนไลน์
และเพื่อให้ชัดเจนในทุกประเด็นตรวจสอบ TOP NEWS ขอย้อนไปตรวจสอบวิธีการจัดสรรสลากกินแบ่งฯ ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดยุคคสช. ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่สลากกินแบ่งฯถูกควบคุมโดยภาคเอกชนอย่างเบ็ดเสร็จ ตามรูปแบบของการให้สัมปทาน จนทำให้ราคาขายปลีกสลากกินแบ่งฯแต่ละงวด มีตัวเลขสูงเกินกว่าตัวเลขควบคุมอย่างมาก และผลกำไรส่วนใหญ่ตกอยู่กับกลุ่มทุนเพียง 5 กลุ่มทุน หรือที่เรียกทั่วไปว่า 5 เสือกองสลากฯ
5 เสือกองสลากฯ
1. .บริษัท สลากมหาลาภ จำกัด
2. บริษัท ปลื้มวัธนา (ชื่อใหม่ แอดวานซ์ เทคโนโลยี ซิสเต็มส์)
3.บริษัท ไดมอนด์ ล็อตโต้ ซึ่งถูกระบุว่าเป็นของ “เจ๊แดง” หรือนางปลื้มจิตต์ กนิษฐ์สุด
4.บริษัท หยาดน้ำเพชร และ5.บริษัท บีบี เมอร์ชานท์ ซึ่งทั้งสองบริษัทมีการระบุว่าเป็นของ “เจ๊สะเรียง” หรือ น.ส.สะเรียง อัศววุฒิพงศ์
จากการตรวจสอบพบว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในยุคนั้น มีการจัดพิมพ์และจำหน่ายสลากฯในแต่ละงวด รวมทั้งหมด 72 ล้านฉบับ และมีการแยกเป็นสลากเป็น 2 ประเภท คือ
1. สลากกินแบ่งรัฐบาล จัดพิมพ์และจำหน่าย งวดละ 50 ล้านฉบับ
2. สลากบำรุงการกุศล จัดพิมพ์และจำหน่าย งวดละ 22 ล้านฉบับ
เหตุผลที่เรียกว่าสลากกินแบ่งรัฐบาล ก็มาจากเหตุผลเพราะรายได้จากการจำหน่ายสลาก จะมีการจัดแบ่งเงินรายได้ ออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
1. 60% จัดสรรเป็นเงินรางวัล
2. 12% แบ่งเป็นค่าบริหารจัดการ ซึ่งค่าบริหารจัดการนี้ ก็ยังแยกย่อยเป็น 3 % สำหรับสำนักงานสลากฯ 2 % แบ่งให้ผู้กระจายสลากฯ ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด , สมาคมต่าง ๆ รวมทั้งสำนักสลากฯ เองด้วย
3. 7% จัดเป็นส่วนลดให้กับผู้ค้ารายย่อย
4. อีก 28% ถ้าเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาล จะนำเงินส่วนดังกล่าวเข้ารัฐทั้งหมด แต่ถ้าเป็นสลากบำรุงการกุศล รัฐบาลจะมีการหักภาษีไว้ 0.5% และอีก 27.5% จะจัดสรรต่อไปให้กับหน่วยงานการกุศล เช่น โรงพยาบาล หรือ มูลนิธิต่าง ๆ
โดยการจัดจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มียอดพิมพ์งวดละ 50 ล้านฉบับ หรือ 5 แสนเล่ม นั้น พบว่ามีการจัดสรรให้กับผู้แทนจำหน่ายเป็นส่วน ๆ ดังนี้
1.โควต้ารายย่อยส่วนกลาง จำนวน 1.6 แสนเล่ม หรือ เท่ากับ 14.6 ล้านฉบับ
2.โควต้ารายย่อยส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นการจัดสรรผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด และ 75 คลังจังหวัด จำนวน 1.9 แสนเล่ม หรือ เท่ากับ 19 ล้านฉบับ โดยแต่ละจังหวัดจะได้รับไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร
3.โควต้านิติบุคคล จำนวน 17,200 เล่ม หรือ เท่ากับ 1.72 ล้านฉบับ
4.โควต้าองค์กร – มูลนิธิและสมาคม จำนวน 1.35 แสนเล่ม หรือเท่ากับ 13.5 ล้านฉบับ
5.มูลนิธิสำนักงานสลาก จำนวน 10,200 เล่ม หรือ เท่ากับ 1.02 ล้านฉบับ