วันที่ 10 ธ.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ครบรอบ 90 ปี วันรัฐธรรมนูญซึ่งตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของประเทศไทยซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ผู้สื่อข่าวจึงได้สัมภาษณ์ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” ปรมาจารย์ทางกฎหมายมหาชนและผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญคนดัง ในโอกาสครบรอบ 90 ปี กล่าวว่า หลักการสำคัญการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยของคณะราษฎร 24 มิถุนายน 2475 จนนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก 10 ธันวาคม 2475 คือ Constitution & Parliament จะเห็นได้จากการปรับเปลี่ยนชื่อ ประธานคณะกรรมการราษฎรมาเป็นนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการราษฎรมาเป็นคณะรัฐมนตรี ในส่วนของระบบรัฐสภา แบ่งแยกสามอำนาจ คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ขณะนั้น การออกแบบรัฐธรรมนูญมีเพียง ส.ส. แบ่งเป็นประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ยังไม่มีสภาสูง ต่อมาจึงมีสภาสูงในปี 2489 ที่เรียกว่า “พฤฒสภา”ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น สมาชิกวุฒิสภา
การออกแบบสถาบันทางการเมืองตามโครงสร้างอำนาจอธิปไตย เป็นผลพวงจากการออกแบบรัฐธรรมนูญแต่ละช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบระบบการเลือกตั้ง รวมถึงออกแบบองค์การจัดการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นองค์กรอิสระ องค์กรหนึ่ง พัฒนาคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยนำรูปแบบเยอรมันมาประยุกต์ใช้ ยกระดับการตีความความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะสร้างกลไกในการตรวจสอบโดยออกแบบ ปปช.ผู้ตรวจการแผ่นดิน คตง.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ แม้จะออกแบบรัฐธรรมนูญ ออกแบบสถาบันทางการเมืองให้ดีขึ้นตามช่วงเวลาของรัฐธรรมนูญและบริบทการเมืองตามช่วงเวลา ก่อให้เกิดช่องว่างกฎหมาย ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องนำข้อเท็จจริงมาอุดช่องว่างและเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แตกต่างจากรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากยิ่งเพราะกำหนดเงื่อนไขไว้ถึงกลไกถ่วงดุลให้สภาสูงใช้เสียงถึงหนึ่งในสาม และศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ กรณีแก้ไขทั้งฉบับจะต้องฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศโดยผ่านการจัดทำประชามติ