“รถไฟฟ้าสีส้ม” ล่าช้ากว่า 3 ปีแล้วรฟม. แจงกี่ครั้งยังไม่สิ้นสงสัย

"รถไฟฟ้าสีส้ม" ล่าช้ากว่า 3 ปีแล้วรฟม. แจงกี่ครั้งยังไม่สิ้นสงสัย

ถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ สำหรับกรณีปัญหาการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) เนื่องจากอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศชัดเจนเรื่องนโบายต่อต้านคอร์รัปชั่น

เพราะอีกด้านหนึ่ง นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (มหาชน) จำกัด ในฐานะภาคเอกชนผู้สัมปทานโครงการภาครัฐ กลับแสดงความเห็นอีกด้าน ว่า รู้สึกในช่วง 2-3 ปีนี้ การคอรัปชั่นรุนแรงมาก ขณะที่ตนเองประมูลงานด้านโครงสร้างพื้นฐานมากว่า 30 ปี จำนวนงบประมาณ 5 หมื่นล้านบาทถึงแสนล้านบาท หลายโครงการ ทั้งรถไฟฟ้า สายสีเขียว สายสีชมพูและ ทางด่วน สามารถชนะได้แบบโปร่งใส โดยไม่มีอะไรที่เป็นคำถามได้ว่าผิดตรงไหน เพราะเราทำโครงการที่ดีที่สุดให้กับคนไทยในกทม. ที่มีความเสี่ยงมากกับรายได้แบบนี้ ขณะที่บางคนพอประมูลได้แล้วก็หนีไป เพราะไม่คิดจะทำจริงๆ แต่วันนี้เราทำสำเร็จแล้วโดยให้บริการมา 20 กว่าปี

พร้อมย้ำวันนี้ ตนอยากให้ผู้นำรัฐบาล ครม. ร่วมกันคิด ถ้าจะให้การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มผ่านไป เพราะถ้าผ่านไปได้ต้องตอบประชาชนให้ได้ด้วยว่า ทำไมถึงราคาผิดไปจากเดิม ถ้าครม.ชุดนี้ให้ผ่าน จะเป็นการทำบาปกับประเทศชาติแน่นอน กฎหมายทำอะไรท่านได้หรือเปล่าค่อยดูกัน แต่ท่านไม่ควรทำ

ประเด็นสำคัญ คือ นายคีรี ลงลึกถึงการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มว่า เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ว่า มติครม.ให้ผ่านและให้มีการประมูล โดยมีการผ่านพ.ร.บ.ร่วมทุนเรียบร้อย รวมถึงมีการขายซองให้ผู้ประมูลแล้ว 10 ราย รวมถึงบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC

โดยมี 2 บริษัทที่ร่วมประมูลในโครงการเดียวกันเท่ากัน สเป็กเหมือนกันหมด แต่ตนไม่ทราบว่าบริษัทคู่แข่งเสนอราคาให้เท่าไหร่ จะชนะหรือไม่ เพราะถ้าหากชนะต้องให้ราคาต่ำกว่าตน ซึ่งราคาที่ BTSC ยื่นประมูลไปเท่ากับวิธีคิดราคาในวันนี้ คือ ไม่ถึง 9 พันกว่าล้านบาท ซึ่งรัฐต้องสนับสนุนเพื่อให้ได้รถไฟฟ้าสายสีส้ม แต่วันนี้กลับอ้างทุกอย่าง อาจจะมาจากเจ้ากระทรวง องค์การที่ดูแลเรื่องนี้ คิดอะไรไม่ทราบ สิ่งที่ออกมาคือประกาศผู้ที่ชนะ รัฐบาลต้องจ่ายอีกเป็นเงิน 7.8 หมื่นล้านบาท ผิดไปถึง 6 หมื่นกว่าล้าน ตนอยากถามเจ้ากระทรวง องค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้นำรัฐบาล ว่าหากผ่านไปจะตอบกับประชาชนอย่างไร

โดยเฉพาะประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างยังไม่ได้ยื่นซอง ปรากฎว่ามีการเปลี่ยนข้อกำหนด หลักเกณทีโออาร์ ซึ่งปกติไม่เคยเจอเรื่องลักษณะนี้ และมองว่าเป็นเรื่องแปลก หรือ อาจจะไม่โปร่งใส BTSC จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ก่อนศาลจะมีคำสั่งคุ้มครอง ซึ่งหมายความว่าให้กลับไปใช้เงื่อนไขเดิม

 

ข่าวที่น่าสนใจ

กระทั่งเมื่อวันที่ 3 ก.พ .2564 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กลับประกาศยกเลิกการประมูลไปทั้งที่ยังไม่ได้เปิดซอง โดยสิ่งที่แปลกไปกว่านั้น คือ ทีโออาร์ ใหม่ กลับมีความเปลี่ยนแปลงในเงื่อนไข จนทำให้ BTSC ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ ทั้งที่เป็นรายใหญ่ และอีกบริษัทคู่แข่งที่ยื่นข้อเสนอเป็นผู้ชนะการประมูลด้วยเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นมาโดยรฟม.

จากนั้นเป็นอีกครั้ง จากการที่ รฟม. ตัดสินใจออกเอกสารชี้แจงเป็นข้อ ๆ ต่อกรณีที่เกิดขึ้น อาทิ

1.อ้างว่าการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งแรก ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 3 ก.ค. 2563 ที่ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ได้เคยยื่นข้อเสนอไว้นั้น ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และเอกชนที่ยื่นข้อเสนอฯ ทั้ง 2 ราย ได้รับคืนซองเอกสารข้อเสนอฯ แล้ว จึงไม่สามารถกลับไปดำเนินการให้แล้วเสร็จได้อีก และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่แต่อย่างใด

แต่ในมุมกลับกรณีนี้จนถึงปัจจุบัน ยังคงมีข้อคำถามเช่นกัน ว่า ทำไมรฟม.ถึงเลือกวิธีการยกเลิกการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 1 และเป็นการยกเลิกประมูล หลังจากเมื่อวันทื่ 20 ต.ค. 2563 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งคุ้มครองชั่้วคราว มีคำสั่งให้ รฟม.กลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิม ในการพิจารณาข้อเสนอของเอกชนที่ยื่นซองประมูลโครงการรถไฟฟ้าสีส้ม

โดยศาลฯ เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) แม้คณะกรรมการคัดเลือกฯและ รฟม. ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีอำนาจที่จะสามารถกระทำได้ แต่ต้องไม่เกินขอบอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ประกอบกับในการแก้ไขหลักเกณฑ์ครั้งนี้สืบเนื่องมาจากมีข้อเรียกร้องจากเอกชนผู้ซื้อซองอีกราย ที่มีสิทธิที่จะเข้าแข่งขันในการเสนอราคาในครั้งนี้

ในชั้นนี้จึงเห็นว่า กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และการแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยใช้การประเมินซองที่ 2 และซองที่ 3 รวมกันแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน จึงเป็นคำสั่งที่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย

และกรณีนี้ยังเกี่ยวเรื่องกับเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 รฟม. และคณะกรรมการมาตรา 36 เลือกวิธีการยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลมีคำพิพากษากลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น กรณีมีคำทุเลาคำสั่งการบังคับตามหลักเกณฑ์ การร่วมลงทุนของรฟม. ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

โดยมีเหตุผลสำคัญประกอบการพิจารณาต่อไปว่า การวินิจฉัยของศาลปกครองกลางดังกล่าว เกี่ยวข้องหรือไม่ กับกรณีวันที่ 3 ก.พ.2564 คณะกรรมการ ม.36 ตัดสินใจยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ -มีนบุรี(สุวินทวงศ์) และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามการประมูลครั้งที่ 1

จนเป็นเหตุให้ วันที่ 11 ก.พ. 2564 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งถอนอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว BTSC และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจาก คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐกับเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าวแล้ว ซึ่งมีผลเท่ากับยกเลิกโครงการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม อันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีไม่มีอยู่ต่อไปแล้ว

ซึ่งจุดนี้จะเป็นวิธีการต่อสู้ทางคดีจากกรณีศาลปกครองกลาง เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) เป็นคำสั่งที่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ เป็นเรื่องที่สังคมไทยควรได้พิจารณาร่วมกัน เพราะจากวิธีการนี้ได้นำไปสู่การเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2 และด้วยเงื่อนไขใหม่ที่ผู้บริหาร BTS ระบุว่าไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้

และเป็นประเด็นพิจารณาต่อเนื่อง ไปถึงความสมเหตุผล จากข้อชี้แจง 2. ซึ่งรฟม. อ้างว่าข้อเสนอของ BTSC ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเมื่อปี 2563 มิได้ผ่านการตรวจสอบและพิจารณาตามเกณฑ์การประเมินที่ประกอบด้วยข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ข้อเสนอด้านเทคนิค และข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน จึงไม่มีความน่าเชื่อถือ และไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้กับข้อเสนอที่ผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์และกระบวนการที่เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ได้

รวมถึงข้อ 3) ที่ระบุว่าการที่ BTSC ไม่เข้าร่วมการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พ.ค. 65 โดยกล่าวอ้างว่าการกำหนดเงื่อนไขทำให้พันธมิตร บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งฯ ไม่สามารถยื่นข้อเสนอได้ ศาลปกครองกลางได้คำสั่งเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 65 ยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่ BTSC ร้องขอ เนื่องจากพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พ.ค. 65 เป็นการดำเนินการที่เป็นไปตามขั้นตอนตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 6 พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 รวมถึงประกาศเชิญชวนฯ ยังมีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมการคัดเลือกมากขึ้น

 

เหล่านี้เป็นบางส่วนที่ รฟม.นำมาเป็นข้อหักล้าง คำพูดของผู้บริหาร BTS แต่ถ้าพิจารณากันโดยข้อเท็จจริง ปัญหาทั้งหมดจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้า รฟม.และคณะกรรมการมาตรา 36 ไม่พลิกแพลงจนทำให้เกิดการเปลี่้ยนแปลงเงื่อนไขการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครั้งที่ 1 ทั้ง ๆ ที่เปิดขายซองประกวดราคาไปแล้ว และเป็นเงื่อนไขที่ นางสาวกนกรัตน์ ขุนทอง ผู้แทนสำนักงบประมาณ และอดีตหนึ่งในคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 ในขณะนั้น ให้ความเห็น กรณีคณะกรรมการ PPP นำเสนอหลักเกณฑ์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เสนอต่อครม.พิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการ

ตามรายละเอียดหนังสือ คณะกรรมการ PPP ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ว่า “ผู้ยื่นข้อเสนอที่ขอรับเงินสนับสนุน รวมทั้ง 2 ส่วนจากภาครัฐ เมื่อคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV) ต่ำสุดจะเป็นผู้ชนะการคัดเลือก” เป็นเหตุอัน ” ไม่สามารถรื้อ เปลี่ยนแปลง ทีโออาร์ได้ เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักการที่ครม.มีมติอนุมัติไว้แล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563

ดังนั้น ถ้าหากคณะกรรมการคัดเลือกฯจะปรับปรุง หลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนที่แตกต่างไปจากที่ครม. มีมติอนุม้ติไว้ อาจเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณแผ่นดิน และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะต้องนำเสนอให้ครม.พิจารณาอนุมัติ การปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวก่อน จึงจะดำเนินการได้

นอกจากนี้เมื่อ วันที่ 9 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางยังมีคำพิพากษา ในคดีที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ฟ้องว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารการคัดเลือกเอกชน

โดยศาลให้เหตุผลว่า การที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติเห็นชอบเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมภายใน 9 วัน โดยมิได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องก่อนการดำเนินการแก้ไขตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ. 2563 จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนรัฐและเอกชน

ดังนั้น การที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยใช้การประเมิน ซองที่ 2 คือข้อเสนอด้านเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลประโยชน์ตอบแทนมารวมกัน ในสัดส่วน 30:70 คะแนน เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

“การแก้ไขเพิ่มเติม และเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 โดยใช้การประเมินซองที่ 2 และซองที่ 3 รวมกัน โดยแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน เป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC ระบุว่า สาระสำคัญของคำพิพากษา แจ้งชัดเจน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณา ผู้ชนะการประเมินของเอกสารการคัดเลือกเอกชนนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจากคำพิพากษาของศาลปกครองฯ ดังกล่าว ที่ชี้ชัดว่า การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประมูลโครงการฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้เกิดคำถามต่อไปว่า กรณีนี้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่

เพราะเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอการต่อสัญญาจ้าง นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในอัตราเดือนละ 480,000 บาท (ตามมติคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 และครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565) รวมทั้งค่าตอบแทนพิเศษประจำปีและสิทธิประโยชน์อื่นที่ผู้รับจ้างจะได้รับตามที่กระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบแล้ว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้าง จากการที่สัญญาจ้างของนายภคพงศ์ จะหมดในเดือนเมษายน 2565 และเมื่อต่อสัญญาอีก 2 ปี ไปจนถึงปี 2567 จะทำให้นายภคพงศ์ เกษียณอายุราชการพอดีในอายุ 60 ปี

สำคัญที่สุดคดีการฟ้องร้องการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ภายใต้เงื่้อนไขการประมูลใหม่ครั้งที่ 2 ปัจจุบันยังคงอยู่ขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง หรือ ยังไม่มีการชี้ผิดชี้ถูกฝ่ายใด ส่วนคำชี้แจงของรฟม. ล่าสุด โดยข้อเท็จจริงคือเพียงแต่ศาลปกครอง ไม่พิจารณาคุ้มครองชั่วคราว ตามคำร้องของ BTSC เท่านั้น ขณะที่การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มของประเทศไทย ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นมาแล้วกว่า 3 ปี แล้ว พร้อมข้อคำถามคาใจว่า เราจะปล่อยให้เกิดค่าโง่ 7 หมื่นล้านจริงหรือไม่ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล จะทนดูปัญหานี้ไปอีกนานแค่ไหน ???

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน
สถาปนาเขตพื้นที่คุ้มครองฯ ชาติพันธุ์ชุมชนชาวเลโต๊ะบาหลิว
ผบ.ตร.สั่งสอบคลิปแก๊งต่างด้าว แสดงพฤติกรรมเย้ยกม. กำชับคุมเข้ม ใช้ยาแรง

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น