นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนกรกฎาคม 2564 ผ่าน FB Live สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง : Fiscal Policy Office ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี ลดลงเมื่อเทียบกับประมาณการเมื่อเดือนเม.ย.ที่ร้อยละ 2.3 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เริ่มต้นในช่วงปลายไตรมาส 2 ปี 2564
ส่วนการส่งออกสินค้า มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ทำให้คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทย ในปี 2564 จะขยายตัวที่ร้อยละ 16.6 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 16.1 ถึง 17.1) ปรับเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ร้อยละ 11.0 ต่อปี โดย 5 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวสูงมาที่ร้อยละ 14.5 ต่อปี แล้ว
ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0-5.0 ต่อปี จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และการส่งออกที่ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ การจ้างงาน และสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้การใช้จ่ายภายในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้ดี
((ปล่อยเสียง นาทีที่ 22.08- 22.50 เริ่มที่ เราคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.8-1.8 เมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อนที่เราให้ไว้เมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี สาเหตุเกิดมาจากการได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เริ่มต้นในช่วงปลายไตรมาส 2 ของปี 2564 ก็ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย การเดินทางระหว่างประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย… จบ ))
((นาทีที่ 25.28-25.56 เริ่มที่ สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเร่งขึ้นมา อยู่ในช่วง 4-5 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง และมีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปีหน้าได้จำนวน 12 ล้านคน ในขณะที่การส่งออกสินค้าก็คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ..จบ))
สำหรับตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปี 64 คาดการณ์ที่ 0.3 ล้านคน ลดลง 95.5% จากปี 63 ที่มีจำนวน 6.7 ล้านคน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งทั่วโลกและภายในประเทศ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะเดียวกันแนวทางการผ่อนคลายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยยังคงมีข้อจำกัด บวกกับรัฐบาลของแต่ละประเทศยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ ของโควิด-19 ทำาให้ยังมีข้อจำกัดในการอนุญาตให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ โดยเฉพาะรัฐบาลจีน ที่ยังคงไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยเดินทางออกนอกประเทศในรูปแบบของกรุ๊ปทัวร์ได้
อีกทั้งแนวทางการเปิดประเทศในบางพื้นที่นำร่อง ยังต้องพิจารณาสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่นั้น ๆ โดยเฉพาะ กทม . ยังคงมีความไม่แน่นอนจากจำนวนผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ที่ยังคงเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปีนี้จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเทียวต่างชาติ อยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท ลดลง 93.5% จากปี 63 ที่ 3.3 แสนล้านบาท
นางสาวกุลยา กล่าวด้วยว่า ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจไทย ผ่านการดำเนินมาตรการทางการคลังของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และมาตรการด้านการเงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐประกอบกับการใช้จ่ายเงินกู้จากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ในส่วนที่เหลือ
และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท (พ.ร.ก. กู้เงินฯ เพิ่มเติม) ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคบรรเทาผลกระทบของภาคธุรกิจและรักษาระดับการจ้างงานให้สูงขึ้น
โดยคาดว่า การบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.7 ถึง 4.7) และ 9.5ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.0 ถึง 10.0) ตามลำดับ ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.5 ถึง 1.5) และ 4.1 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 ถึง 4.6) ตามลำดับ
ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.7 ถึง 1.7) ปรับตัวลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี เนื่องจากภาครัฐมีการดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจทั่วประเทศ ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุล -2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นร้อยละ -0.5 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.0 ถึง 0.0 ของ GDP) จากการขาดดุลในดุลบริการเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดได้แก่
1) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
2) ข้อจำกัดในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
3) ความไม่แน่นอนของตลาดน้ำมันโลก หากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศรุนแรงขึ้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงาน
4) ทิศทางนโยบายการเงินโลกที่มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นจะส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีฐานะการคลังที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ ทำให้กระทรวงการคลังมีความพร้อม
ในการดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐประกอบกับนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
ที่เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป