นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค” โดยระบุข้อความว่า ปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย “เป็นของรัฐบาลและกทม.ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน”
ปัญหาหนี้ 40,000 ล้านบาท ที่ถูกทวงถาม ได้รับคำตอบจากกรุงเทพมหานครว่า กทม.ยืนยัน ไม่มีเจตนาไม่ชำระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย
แต่….หนี้เหล่านี้ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานคร !
“ผู้ว่าฯ ชัชชาติให้สัญญาหลังจากได้รับตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. ว่าปัญหานี้จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน”
โดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้เคยพูดคุยกับผู้บริหาร กรุงเทพธนาคม เพื่อขอดูสัมปทานการจ้างเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว หลังรับตำแหน่ง ผู้ว่าฯ กทม. ได้เพียง 1 วัน และกล่าวว่าภายใน 1 เดือน จะได้ความชัดเจนถึงข้อสรุป
แต่จนถึงปัจจุบัน ระยะเวลา 1 เดือนตามสัญญาของผู้ว่าฯชัชชาติก็ยังมาไม่ถึง
“กทม.โยนไปที่รัฐบาล”
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยังกล่าวว่า สัญญาเดิมที่ค้างอยู่ในคณะรัฐมนตรีขณะนี้เกิดขึ้นจากการพิจารณาของคณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นโดยใช้มาตรา 44
ด้านนายวิศณุ รองผู้ว่าฯ กทม. ให้เหตุผลว่า กทม. สนับสนุนค่าบริการเดินรถและซ่อมบำรุงมาตลอดจนถึงเดือน เม.ย. 2562 จนกระทั่งมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2562 ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการ และได้มีการเจรจาให้เอกชนรับภาระค่าจ้างเดินรถของส่วนต่อขยายที่ 1 ตั้งแต่ พ.ค. 2562
“คำสั่งของ คสช.เป็นอย่างไร”
ย้อนไปเมื่อ 11 เม.ย.62 – คสช. ได้มีคำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร เจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิม และจัดทำร่างสัญญาร่วมลงทุน พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
ซึ่งสาเหตุของเรื่องนี้มาจาก โครงการดังกล่าวมีสัญญาดำเนินงานแตกต่างกันในแต่ละช่วง อาจทำให้มีปัญหาการบูรณาการ การบริหารโครงการและสัญญาที่ไม่มีความเป็นเอกภาพ ถ้าต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ในการแก้ปัญหา อาจทำให้โครงการนี้ล่าช้าอีก 2-3 ปี ซึ่งรัฐบาลไม่อยากให้เกิดปัญหาการเดินรถที่ไม่มีความต่อเนื่องจึงเป็นที่มาของการออกคำสั่งดังกล่าว