ข่าวดี นักวิจัยและนักพฤกษศาสตร์ไทย พบพืช "สกุลเทียน" 20 ชนิดใหม่และอีก 1 สายพันธุ์ของโลก
ข่าวที่น่าสนใจ
นักวิจัยและนักพฤกษศาสตร์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ เก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก! ประกาศข่าวดี ค้นพบพืช “สกุลเทียน” ชนิดใหม่ของโลกอีก 20 ชนิดและอีก 1 สายพันธุ์ พร้อมเปิดตัวหนังสือ Impatiens of Thailand
องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ
- Mr. John Tan Jiew Hoe กรรมการบริหาร Gardens by the Bay ประเทศสิงคโปร์
- Datuk Chan Chew Lum เจ้าของสำนักพิมพ์ Natural History Publications (Borneo) ประเทศมาเลเซีย
จัดงานเปิดตัวหนังสือ Impatiens of Thailand (พืชสกุล เทียนในประเทศไทย) พร้อมแถลงการค้นพบพืชสกุล เทียนชนิดใหม่ของโลก 20 ชนิดและอีก 1 สายพันธุ์
ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสวนพฤกษศาสตร์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ และผู้แต่งหนังสือดังกล่าวเปิดเผยว่า หนังสือ Impatiens of Thailand รวบรวมองค์ความรู้ทางพฤกษศาสตร์ โดยเฉพาะด้านอนุกรมวิธานของพืชสกุล เทียนทุกชนิดในประเทศไทยที่มีจำนวนถึง 90 ชนิด โดยเป็นผลงานวิจัยร่วมระหว่างตนเอง และ ผศ.ดร.สาโรจน์ รุจิสรรค์สกุล อาจารย์ภาควิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ใช้เวลาศึกษาวิจัยกว่า 16 ปี
โดยเริ่มทำการออกสำรวจเก็บข้อมูลภาคสนามในพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 รวมทั้งเดินทางไปตรวจสอบตัวอย่างต้นแบบ เพื่อการเทียบเคียงในหอพรรณไม้สำคัญหลายแห่งทั้งในยุโรปและเอเชีย ในจำนวนนี้มีเทียนชนิดใหม่ของโลกที่ได้รับการค้นพบและตีพิมพ์ในหนังสือดังกล่าวจำนวนถึง 20 ชนิดกับอีก 1 สายพันธุ์
นอกจากนี้ เนื้อหาในหนังสือยังได้บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่ประวัติการศึกษาทางอนุกรมวิธานของเทียนไทยซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ลักษณะทางสัณฐานวิทยา นิเวศวิทยา ชีววิทยาการผสมเกสร การประเมินสถานภาพด้านการอนุรักษ์ รูปวิธานและคำบรรยายลักษณะเทียนของไทยทุกชนิด รวมทั้งมีรูปวาดสีน้ำ รูปลายเส้น และรูปถ่ายสีประกอบตลอดทั้งเล่มกว่า 400 หน้า
การค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทยจำนวนมากครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศอันหลากหลายในผืนป่าของไทย ซึ่งในบรรดาเทียนชนิดใหม่ทั้ง 20 ชนิดนั้น มีถึง 15 ชนิดที่ขึ้นอยู่ในระบบนิเวศเขาหินปูน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเขาหินปูนที่นับวันจะหมดไปจากการระเบิดทำปูนซีเมนต์และการก่อสร้าง
นอกจากนี้ เทียนจำนวนมากยังเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย ส่วนใหญ่หายาก และถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการวางแผนเพื่อการอนุรักษ์ และวิจัยต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่า อันจะเป็นการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ข้อมูล : องค์การสวนพฤกษศาสตร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง