เปิดภาพ "ดวงจันทร์ไททัน" ดาวบริการดวงแรกของดาวเสาร์ เผยให้เห็นตำแหน่งของเมฆในบรรยากาศชั้นล่างของดาว
ข่าวที่น่าสนใจ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อัปเดตข่าวสารวงการดาราศาสตร์ หลังกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (JWST) สามารถจับภาพ “ดวงจันทร์ไททัน” (Titan) บริวารของดาวเสาร์ได้ เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ดวงจันทร์ ไททัน ถือว่าเป็นวัตถุหนึ่งที่มีลักษณะค่อนข้างคล้ายโลก (เมื่อเทียบกับดาวดวงอื่นในระบบสุริยะ) เพียงแต่ผืนทวีปเป็นน้ำแข็ง ลำธารและทะเลเต็มไปด้วยก๊าซมีเทนและสารประกอบไฮโดรคาร์บอนในสถานะของเหลว สภาพบรรยากาศหนาทึบ เต็มไปด้วยหมอก รวมถึงเมฆของมีเทน
Conor Nixon นักดาราศาสตร์จากศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ดขององค์การนาซา ผู้นำทีมวิจัยในครั้งนี้ และเป็นผู้ที่ได้รับสิทธิ์ในการใช้กล้อง JWST เพื่อสังเกตการณ์ดวงจันทร์ ไททันนาน 15 ชั่วโมงในช่วงปีแรก เป้าหมายเพื่อศึกษาบรรยากาศของไททัน เพื่อทำแผนที่การกระจายตัวของเมฆหมอก และตรวจหาแก๊สชนิดอื่น ๆ ที่ยังไม่เคยมีการค้นพบ
นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ต่างก็สนใจกับข้อมูลการสังเกตการณ์ไททันที่ JWST ส่งมา พวกเขาสามารถระบุตำแหน่งของเมฆบนดวงจันทร์ ไททันได้ 2 แห่ง เช่น เมฆจาง ๆ เหนือบริเวณ ทะเลคราเคน (Kraken Mare) หนึ่งในทะเลที่ใหญ่ที่สุดบนไททัน เพื่อหาวิธีการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของเมฆเมื่อเวลาผ่านไป ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ข้อมูลจากหอดูดาว Keck ในฮาวาย ซึ่งสังเกตการณ์ไททัน 2 วันพบว่า เมฆเหล่านี้อยู่ในตำแหน่งเดิม เพียงแต่มีรูปร่างเปลี่ยนแปลงไป
อย่างไรก็ตาม การพบเมฆในตำแหน่งเดียวกัน ณ เวลาที่ต่างกันก็ไม่ได้หมายความว่า หอดูดาว Keck จะสามารถถ่ายภาพเมฆก้อนเดียวกันกับที่ JWST ถ่ายเสมอไป นักวิทยาศาสตร์มองว่า เมฆบนซีกเหนือของไททันมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างถี่ เพราะ เป็นช่วงท้ายฤดูร้อนของซีกเหนือของไททัน บริเวณนี้จึงได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์มากกว่าปกติ ดังนั้น เมฆที่เห็นจากหอดูดาว Keck ก็อาจเป็นเมฆที่เพิ่งก่อตัวขึ้นมาใหม่ได้ไม่นาน
นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยยังใช้กล้องถ่ายภาพในย่านรังสีอินฟราเรดใกล้ หรือ NIRCam ของ JWST ทำให้พวกเขาระบุตำแหน่งเมฆในภาพถ่ายได้ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเป็นตำแหน่งของเมฆที่บรรยากาศชั้นล่างของ “ดวงจันทร์ไททัน” รวมถึงยังมีข้อมูลจากอุปกรณ์ NIRSpec ที่ยังรอผลการสังเกตการณ์อีก ที่จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของบรรยากาศชั้นล่างของไททันได้
JWST มีกำหนดการจะสังเกตการณ์ดวงจันทร์ ไททันอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน ค.ศ. 2023 แต่ในคราวนี้จะใช้อุปกรณ์สังเกตการณ์ในย่านรังสีอินฟราเรดกลาง หรือ MIRI ซึ่งข้อมูลจากอุปกรณ์นี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของบรรยากาศไททันได้ดีขึ้น
ยานแคสสินี (Cassini) เป็นภารกิจที่ส่งไปสำรวจดาวเสาร์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 ซึ่งแคสสินีก็ได้โคจรเฉียด “ดวงจันทร์ไททัน” นับร้อยครั้งและสิ้นสุดภารกิจในปี ค.ศ. 2017 นับตั้งแต่นั้นก็ไม่มียานอวกาศลำใดเฉียดเข้าใกล้ดวงจันทร์ ไททันอีกเลย การสังเกตการณ์จาก JWST จึงมีความสำคัญสำหรับภารกิจสำรวจอวกาศในอนาคต นั่นคือ ภารกิจ Dragonfly ขององค์การนาซา ที่จะเป็นการส่งยานกลับไปสำรวจดวงจันทร์ ไททันอีกครั้งด้วยโดรนบิน เพิ่มขีดจำกัดในการสำรวจบนพื้นผิวของไททัน
ข้อมูล : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง