ถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ กับสารพัดปัญหาการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายหลัง คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม .เริ่มต้นให้มีการรื้อแก้ไข หลักเกณฑ์การประมูล จนมาถึงการยกเลิกการประมูล เพราะ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง
จากนั้น ในวันที่ 21 ต.ค. 2563 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์ การร่วมลงทุนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
“เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) แม้คณะกรรมการคัดเลือกฯและ รฟม. ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง มีอำนาจที่จะสามารถกระทำได้ แต่ต้องไม่เกินขอบอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ประกอบกับในการแก้ไขหลักเกณฑ์ครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากมีข้อเรียกร้องจากเอกชนผู้ซื้อซองอีกราย ที่มีสิทธิที่จะเข้าแข่งขันในการเสนอราคาในครั้งนี้
ในชั้นนี้จึงเห็นว่า กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และการแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยใช้การประเมินซองที่ 2 และซองที่ 3 รวมกันแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน จึงเป็นคำสั่งที่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย”