วันที่ 15 ธ.ค. 65 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะนักวิชาการด้านวิศวกรรมขนส่ง โพสต์เฟซบุ๊ก 4.6 หมื่นล้าน ! หนี้ที่ถูกเมิน โดยระบุว่า แม้ว่า BTSC จะออกมาทวงหนี้หลายครั้งด้วยสารพัดวิธี แต่ดูเหมือนว่าโอกาสที่จะได้เงินคืนยังริบหรี่ คงไม่มีผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้ารายใดในโลกที่อดทนให้บริการโดยไม่ได้รับค่าจ้างมานานกว่า 3 ปีแล้ว การให้บริการผู้โดยสารเป็นภาระหน้าที่ของภาครัฐ แล้วทำไมจึงปล่อยให้ภาคเอกชนที่รับจ้างทำหน้าที่แทนภาครัฐเคว้งคว้าง อย่างไร้อนาคตเช่นนี้ ?
1. ถึงเวลานี้ BTSC เป็นเจ้าหนี้เท่าไหร่ ?
บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ยังไม่ได้รับค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย และค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลประมาณ 46,000 ล้านบาท (รวมดอกเบี้ย) ในส่วนของค่าจ้างเดินรถนั้น BTSC ไม่ได้รับค่าจ้างมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 ถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม BTSC ยังคงให้บริการเดินรถตลอดมาทุกวัน ไม่มีวันหยุด แม้ไม่ได้รับค่าจ้างก็ตาม
2. กทม. ในฐานะลูกหนี้แก้ปัญหานี้อย่างไร ?
ผู้ว่าฯ กทม. มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 ขอให้รัฐบาลช่วยชำระค่างานโยธา (ที่รับโอนมาจาก รฟม.) และค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลของส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-คูคต) รวมทั้งค่าจ้างเดินรถค้างจ่ายแทน กทม.
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ กทม. ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถค้างจ่ายทั้งส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 ถึงเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นเงิน 11,755 ล้านบาท แต่ กทม. ยังไม่ชำระ โดยได้อุทธรณ์มูลค่าหนี้ต่อศาลปกครองสูงสุด