เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ กล่าวขอบคุณสภาผู้แทนราษฏรที่รับพิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ….. เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 และขอให้สภาเร่งพิจารณา พ.ร.บ. ฉบับนี้ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อเกิดการบังคับใช้กฏหมายที่มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เกิดการวิจัยอย่างกว้างขวาง พร้อมกับเน้นย้ำถึงมาตรการในการดูแลความปลอดภัยหลังจากปลดพืชกัญชา กัญชงออกจากรายการยาเสพติด
ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ขอบคุณ ส.ส. รับพิจารณาพ.ร.บ. กัญชา วอนเร่ง ลงมติ เพื่อผลักดันให้เกิดวิจัยและพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ข่าวที่น่าสนใจ
นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า การรับพิจารณาพ.ร.บ. กัญชา แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของการพัฒนาพืชสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ทางสุขภาพ ซึ่งจะก่อให้เกิดความมั่นคงทางสุขภาพและเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขมีความตั้งใจว่าจะให้การพัฒนากัญชา กัญชง เป็น platform ในการพัฒนาสมุนไพร และเป็นผลิตภัณฑ์เรือธง หรือ flagship product ที่จะนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นๆ สู่เวทีโลก
เมื่อถามว่า ประเด็นความรีบร้อนในการปลดพืชกัญชาออกจากยาเสพติดนั้น นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า สธ. มีการดำเนินงานที่เป็นขั้นตอน เริ่มจากปี 62 ที่อนุญาตให้นำมาใช้เป็นยา และใช้ศึกษาวิจัย ในขณะเดียวกันก็มีการทำงานคู่ขนาน เพื่อให้เกิดการส่งเสริมให้เกิดการนำมาใช้ประโยชน์ที่ปลอดภัย พบว่า สารเมาหรือ THC ซึ่งเป็นสารที่ทางการแพทย์มีความกังวลว่าหากใช้ไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งการสำรวจพืชกัญชาในขณะนั้นก็พบว่าสาร THC ในใบ ราก ต้น กิ่งก้านมีน้อยมาก และภูมิปัญญาไทยส่วนใหญ่ก็ใช้ส่วนที่ไม่ใช้ดอกดูแลสุขภาพ จึงปลดส่วนที่ไม่ใช่ดอกและเมล็ดออกจากรายการยาเสพติด หลังจากนั้นเราก็ติดตามการดำเนินงานมาตลอด พบว่า การศึกษาวิจัยเราเป็นไปอย่างล่าช้า ส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากการระบาดของโควิด-19 แต่หากเทียบกับประเทศอื่นก็เป็นไปได้ช้า เพราะการขออนุญาตนำยาเสพติดมาทำวิจัยต้องขออนุญาตหลายกระบวนการ ทำให้เสียเวลามาก รวมถึงการปลูกของเกษตรกรก็ต้องมีความร่วมมือกับภาครัฐ ต้องผ่านกระบวนการขออนุญาต การใช้ยาก็มีระบบที่ต้องได้รับอนุญาตให้จ่ายยากัญชาได้ก่อน กว่าจะได้จ่ายยาก็ใช้เวลานาน
“สามจุดนี้ เป็นจุดสำคัญที่ทาง สธ. และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นตรงกันว่า ต้องทำให้ขั้นตอนสะดวกขึ้น เพื่อให้สามารถทำวิจัย ผลักดันให้มีผลิตภัณฑ์ยาอย่างรวดเร็ว อันเป็นส่วนหนึ่งในนโยบาย Health for wealth ของกระทรวง และสอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ. ที่สภากำลังพิจารณาอยู่ในตอนนี้ ว่าจะมีคณะกรรมการวิจัยระดับชาติด้วย ส่วนที่กังวลเรื่องความปลอดภัย ในฐานะที่กระทรวงเป็นผู้ริเริ่มนโยบายนี้ เราก็มีการทำงานกับส่วนราชการต่างๆ ที่จะดำเนินการให้เกิดการใช้ประโยขน์บนฐานความปลอดภัย ด้วย 5 มาตรการ คือ การส่งเสริมการนำมาใช้ทางการแพทย์และสุขภาพ การคัดเลือกการรักษาด้วยยากัญชาที่มีประสิทธิผล การป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด การบังคับใช้กฏหมายให้มีประสิทธิภาพ และการติดตามกำกับการดำเนินงานผ่านรูปแบบของคณะกรรมการร่วมของกระทรวง จึงนำเรียนมาเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ ว่าทางกระทรวงมีมาตรการที่เราดำเนินการ แต่ถ้าจะให้การควบคุมและส่งเสริมทำได้ดีกว่านี้ การมีพระราชบัญญัติคือคำตอบ เพราะจะทำให้เกิดการบูรณาการ การทำงานของทุกส่วนของประเทศ ที่จะดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน” นพ.ประพนธ์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-