สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2565 นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการ การคมนาคม พร้อมด้วย นายนิกร จำนง รองประธานคณะ กมธ.การคมนาคม คนที่ห้า ร่วมแถลงข่าวผลการประชุมคณะ กมธ. เรื่อง “ศึกษาการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม” โดยอ้างถึงการเชิญผู้แทนจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ รถไฟฟ้าบีทีเอส มาชี้แจงต่อคณะกมธ. ได้ข้อสรุปดังนี้
1) ตามที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่อมวลชนที่อ้างว่ามีส่วนต่างของราคาในขั้นตอนการประกวด คณะ กมธ.เห็นว่าไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ เนื่องจากเป็นการยื่นเสนอราคาที่ต่างกรรม ต่างวาระกัน และผู้ที่ร้องเรียนไม่ได้ยื่นประกวดราคาในครั้งที่ 2 (ครั้งล่าสุด) จึงนำมาอ้างว่าเป็นส่วนต่างไม่ได้
2) ประเด็นการกีดกันการเสนอราคา เมื่อสอบถามกับผู้ร้องเรียน เพราะเหตุใดจึงไม่ได้เข้ายื่นเสนอราคา ได้รับการแจ้งว่า ในทีโออาร์มีการกีดกันไม่ให้ยื่นการประกวดราคา แต่เมื่อฟังคำชี้แจงจาก รฟม. แล้ว ปรากฎเป็นหลักฐานจากการวินิจฉัยของศาลปกครองที่ไม่คุ้มครองชั่วคราว ว่า ทีโออาร์ที่ใช้จัดประกวดราคามีลักษณะเปิดกว้างมากขึ้น ศาลจึงยกฟ้อง ไม่คุ้มครองชั่วคราว จึงเชื่อได้ว่าไม่ปรากฎมีการกีดกันการแข่งขันแต่อย่างใด
ล่าสุด วันนี้ (16 ธ.ค.65) นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส. บัญชีรายชื่อก้าวไกล และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในฐานะกรรมาธิการ(กมธ.) การคมนาคม กล่าวถึง การแถลงโดยอ้างมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่เกิดขึ้น จากคำพูดประธานคณะกรรมาธิการ การคมนาคม ได้สร้างความไม่สบายใจให้กับกรรมาธิการหลายคน เพราะการแถลงข่าวดังกล่าวเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง และไม่ได้เป็นมติที่ประชุม จึงไม่สามารถแถลงในฐานะคณะกรรมาธิการ การคมนาคม ได้
พวกตนในนามกมธ. จึงขอมาแถลงในนามพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพราะที่ผ่านมาพรรคร่วมฝ่ายค้าน เคยยื่นญัตติด่วนในการอภิปรายเรื่องนี้ แต่ได้รับการปฏิเสธ และกลับถูกนำมาฟอกขาวในกมธ. ทั้ง ๆ ที่ในการประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ
ดังนั้น จึงยืนยันว่า กรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร ต้องตรวจสอบโครงการใหญ่ๆ เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส และการประชุมครั้งล่าสุด ซึ่งผู้ว่าฯรฟม.มาชี้แจง แต่ปรากฎว่ามีแนวทางที่ผิดแปลกไปจากเดิม เพราะไม่ได้เรียกทุกฝ่ายมาชี้แจงพร้อมกัน แต่เรียกมาทีละฝ่าย ก่อนมีข้อสรุปของการประชุม คือการขอเอกสารให้ตอบคำถามของ กมธ. และขอเอกสารประกอบ