‘ศรีสุวรรณ’ ค้านนายกฯ ใช้กฎหมายปิดกั้นสื่อ-ปชช.จี้ยกเลิก

"ศรีสุวรรณ" ค้านนายกฯ ใช้กฎหมายปิดกั้นเสรีภาพสื่อ-ประชาชน จี้ยกเลิกฉบับ 29 เหตุมี กฎหมายอื่นรองรับอยู่แล้ว

วันที่ 30 ก.ค.-นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีโพสต์เฟซบุ๊คสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการข่าวปลอมในช่วงโควิด โดยสั่งให้ดำเนินคดีกับผู้ปล่อย เฟกนิวส์รายใหญ่ ไม่เว้นคนดัง – สื่อมวลชน พร้อมให้ติดตามใกล้ชิด แต่ทว่ากลับใช้อำนาจตาม ม.9 แห่ง พรก.ฉุกเฉิน 2548 ออกข้อกำหนดฉบับที่ 27 ข้อ 11 ที่กำหนดมาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิด ความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักร

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า การใช้อำนาจดังกล่าวทำให้ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการออกข้อกำหนดดังกล่าว หรือจัดทำแนวปฏิบัติจากข้อกำหนดพร้อมแถลงถึงเจตนารมณ์ในการบังคับใช้ให้เกิดความชัดเจน เพื่อมิให้มีการนำข้อกำหนดดังกล่าว ไปเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการทำหน้าที่เสนอข่าวสารของสื่อมวลชนและการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของประชาชน จนกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ทว่านายกรัฐมนตรีกลับไม่แคร์โดยออกข้อกำหนด ฉบับที่ 29 ออกมาสำทับห้ามเสนอข่าวทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอีก พร้อมสั่งให้ กสทช.แจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตเข้มงวดกวดขันกับผู้ใช้บริการ หากกระทำผิดให้ส่งให้ตำรวจดำเนินคดี ซึ่งอาจเป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.35 วรรคสอง และม.36 ได้

นายศรีสุวรรณกล่าวอีกว่า กฎหมายที่ใช้จัดการพวกปล่อยข่าวปลอมหรือการบิดเบือนข่าวนั้น สามารถใช้กฎหมายปกติดำเนินการได้อยู่แล้ว โดยนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องออกเป็นข้อกำหนดมาให้เป็นที่ขุ่นเคืองของหลายๆฝ่าย อาทิ ใช้ ป.อ.เอาผิดฐานหมิ่นประมาทใน ม.326 โดยมี ม.328 เป็นบทเพิ่มโทษที่ใช้กันบ่อยๆ หรือเอาผิดพวกบอกเล่าความเท็จ ให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจตาม ม.384 ก็ยังได้ อีกทั้งยังมี ป.อ.แพ่งฯ ในหมวดของการ “ละเมิด” กำหนดเรื่องการหมิ่นประมาทไว้แล้วใน ม.423 เพื่อเรียกค่าเสียหายได้

นอกจากนั้นยังมี พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปี 2560 ม.14 ที่ใช้เอาผิดผู้ที่นำเข้าซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมหรือเป็นเท็จได้ ซึ่งก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับได้ อีกทั้ง กสทช.ก็มีกฎหมายของตนเองที่จะเอาผิดสื่อมวลชนที่เสนอข่าวบิดเบือนได้อยู่แล้ว ผ่านกลไกทางปกครองหรือศาล

นายศรีสุวรรณกล่าวต่อว่า ดังนั้น นายกรัฐมนตรี หรือ ศบค.ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องใช้อำนาจตาม ม.9 แห่ง พรก.ฉุกเฉินฯ มาปิดกั้นการทำหน้าที่เสนอข่าวสารของสื่อมวลชนและการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของประชาชนเลย ทางออกที่เหมาะสมคือปรับปรุงข้อกำหนด ฉบับที่ 27 และ 29 เสียใหม่ โดยตัดทิ้ง ข้อ 11 และทบทวนหรือยกเลิกฉบับที่ 29 ออกไปเสีย ซึ่งไม่ทำให้กระบวนการเอาผิดผู้ที่บิดเบือนข้อมูลข่าวสารของรัฐเสียไป เพราะมีกฎหมายอื่นดูแลอยู่แล้วนั่นเอง

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ผบช.ทท. สั่งการ ตำรวจท่องเที่ยวพัทยา คุมเข้ม ดูแล นทท. คืนปล่อยผี พร้อมแจกอมยิ้มสร้างสีสัน
“พิชัย” เร่งเจรจา FTA ไทย-ยูเรเซีย เปิดการค้าการลงทุน
ตร.บช.ก.สอบ "เจ๊อ้อย" มาราธอนนานกว่า 10 ชั่วโมง ปมเงิน 71 ล้านบาท
ฮือฮา วัตถุมงคล "หมูเด้ง ฮิปโปกวักทรัพย์"  ด้าน "สำนักปฏิบัติธรรมฯ" แจงฆราวาสเป็นผู้จัดสร้าง นิมนต์พระไปอธิษฐานเท่านั้น
อบจ.อยุธยา เตรียมจัดงานแสง สี เสียง ลอยกระทงกรุงเก่า อาบน้ำเพ็ญเดือน12กับเกจิชื่อดัง ชมแข่งขันชกมวยเยาวชนไทย
20 ปี “เทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ” เปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยว ตอกย้ำความประทับใจ ชวนสัมผัสธรรมชาติ
เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เสด็จเป็นองค์ประธานการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์”
กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 1 ไทยตอนบนอากาศแปรปรวน ภาคใต้ฝนตกหนัก 2-5 พ.ย.นี้
แชร์สนั่น ปลุกเสก หมูเด้ง ฮิปโปกวักทรัพย์
ผบ.ทร. มอบประกาศเกียรติคุณยกย่องชมเชย กำลังพล ประกอบคุณงามความดี

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น