เจาะลึก "หน้าผาแห่งจักรวาล" ในช่วงคลื่นแสงอินฟราเรดช่วง 4.7 ไมครอนเผยให้เห็นรูปแบบการไหลของแก๊สไฮโดรเจนตามแรงโน้มถ่วงบนอวกาศ
ข่าวที่น่าสนใจ
ข่าวดี! กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ เจาะลึก “หน้าผาแห่งจักรวาล” หรือ Cosmic Cliff ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเนบิวลากระดูกงูเรือ (Carina Nebula) ด้วยคลื่นแสงอินฟราเรดช่วง 4.7 ไมครอน เผยให้เห็นรูปแบบการไหลของแก๊สไฮโดรเจนตามแรงโน้มถ่วงบนผืนกาลอวกาศเป็นระยะทางหลายปีแสง
โดยภาพนี้ คือโครงสร้างของกลุ่มแก๊สไฮโดรเจนขนาดยักษ์ ที่ได้กระจุกตัวรวมกันอย่างหนาแน่นสูงขึ้นไปกว่า 7 ปีแสง นักดาราศาสตร์จึงเรียกโครงสร้างนี้ว่า หน้าผา แห่งจักรวาล เป็นส่วนหนึ่งของเนบิวลากระดูกงูเรือ (Carina Nebula) สถานที่ที่ฟูมฟักดวงดาวสุกสกาวขึ้นมาส่องแสงสว่าง และมอบความอบอุ่นให้แก่จักรวาล
การวิเคราะห์หน้าผา แห่งจักรวาลเผยให้เห็นรูปแบบการไหลของแก๊สไฮโดรเจนตามแรงโน้มถ่วงบนผืนกาลอวกาศเป็นระยะทางหลายปีแสง ซึ่งได้รับการตรวจพบเป็นครั้งแรกในเนบิวลากระดูกงูเรือ
โดยสายธารของแก๊สไฮโดรเจนนี้ กำลังหลั่งไหลไปมาระหว่างดาวฤกษ์ที่พึ่งถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ คล้ายกับการไหลของสายน้ำหรือไม่ก็สายสะดือที่กำลังหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์มารดาอย่างไรอย่างนั้น แต่เป็นในมาตราส่วนที่ใหญ่กว่าที่เกิดขึ้นบนโลกของเรามาก
นักดาราศาสตร์ประมาณการณ์ว่า ช่วงเวลาที่เราจะสามารถสังเกตเห็นสายธารของไฮโดรเจนที่เชื่อมต่อระหว่างดาวเกิดใหม่ในบริเวณเดียวกันได้นั้น มีระยะเวลาสั้นมาก ๆ เพียงแค่ราว 10,000 ปีเท่านั้น เมื่อเทียบกับอายุของดาวฤกษ์ขนาดกลางโดยเฉลี่ยทั่วไปที่ 10,000 ล้านปี
อีกทั้งความละเอียดของคลื่นแสงที่กล้องโทรทรรศน์เจมส์ เวบบ์ส่งกลับมานั้น ยังทรงพลังมากเสียจนนักดาราศาสตร์บนโลกสามารถคำนวณอัตราความเร็วการไหลของแก๊สไฮโดรเจนได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้เราเรียนรู้ถึงกระบวนการสรรค์สร้างดาวฤกษ์ที่คล้ายกับดวงอาทิตย์มากขึ้น เพื่อศึกษาว่าระบบสุริยะของเราเอง ถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไรกันแน่
ส่วนสาเหตุที่นักดาราศาสตร์เน้นไปที่การศึกษาระบบดาวเกิดใหม่ที่คล้ายกับดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะของเรานั้น เพราะว่า เท่าที่เรารู้ ดาวฤกษ์ขนาดกลางแบบดวงอาทิตย์นั้น ไม่มีอุณหภูมิสูงจนเกินไป มีอายุยืนยาวพอเหมาะพอควร และค่อนข้างเสถียรเมื่อเทียบกับดาวฤกษ์ขนาดอื่น ๆ
ซึ่งความเสถียรเป็นระยะเวลายาวนานนี้ ย่อมมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตที่จะวิวัฒนาการขึ้นมาบนดาวเคราะห์ อันเป็นดวงดาวที่เกิดจากเศษซากที่หลงเหลือจากการก่อตัวของดาวฤกษ์ อย่างเช่น โลกของเรา
จากองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันทำให้เรารู้ว่าแท้จริงแล้ว ดาวฤกษ์ก็ไม่ได้ต่างอะไรไปจากมนุษย์ มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่อาจต้านทานกระแสเวลาที่เดินไปข้างหน้าอย่างไร้ปราณีได้ สักวันหนึ่งดวงอาทิตย์เองก็ต้องจบชีวิตลงเช่นกัน
หากแต่ทว่าในอนาคต ก็ยังคงมีดาวฤกษ์อีกจำนวนมากมายนับไม่ถ้วนที่พร้อมจะถือกำเนิดขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ไปตราบนานเท่านาน จนกว่าการขยายตัวของเอกภพจะทำให้กลุ่มแก๊สไฮโดรเจน ไม่สามารถมารวมกันได้อีกต่อไป
ข้อมูล : Spaceth.co
ข่าวที่เกี่ยวข้อง