ดร.ธรณ์ อธิบายเส้นทางผู้สูญหายเรือหลวงสุโขทัยกระแสน้ำมาอ่าวไทย โอกาสลอยออกไปจากอ่าวเป็นไปได้น้อย แนะควรมีสถานีถาวรสำหรับตรวจวัดสมุทรศาสตร์ในด้านต่าง ๆ อย่างน้อย 3 สถานีในอ่าวไทย เพราะปัจจุบันมีเพียง 1 สถานี ที่คณะประมงศรีราชา
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคลื่อนไหวโพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุถึงกรณีการค้นหาลูกเรือจากเรือหลวงสุโขทัยระบุว่า ผมอยากอธิบายกรณีตามหาผู้สูญหายจากเรือสุโขทัย โดยอาศัยข้อมูลด้านสมุทรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ทางทะเลฐานข้อมูลที่ใช้มาจากแบบจำลองกระแสน้ำและทุ่นกระแสสมุทรที่กำลังลอยอยู่ในทะเลตอนนี้ ด้วยความร่วมมือของปตท.สผ.คณะประมงสสน.
ภาพซ้ายมือคือแบบจำลองกระแสน้ำในช่วงนี้ของอ่าวไทย จุดแดงคือจุดสมมติบริเวณเรืออับปาง ต้องบอกว่าผมลงจุดเอง อาจคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง ใช้เพื่อประกอบแบบจำลองเท่านั้น จากภาพเราจะเห็นลูกศรจำนวนมาก บอกทิศทางของกระแสน้ำ ยิ่งลูกศรซ้อนกันเยอะ หมายถึงความแรงของกระแสน้ำค่อนข้างมาก หัวลูกศรคือทิศทางที่น้ำไหลไป สังเกตบริเวณจุดแดง จะเห็นกระแสน้ำไหลแรงลงใต้ หมายถึงการค้นหาควรเน้นในบริเวณนั้น ซึ่งการค้นหาในปัจจุบันก็ทำสอดคล้องกับข้อมูลอยู่แล้ว เช่น ชายฝั่งชุมพร บริเวณเกาะต่าง ๆ เช่น เกาะเต่า ฯลฯ
ภาพที่สองหรือภาพขวามือคือเส้นทางของทุ่นกระแสสมุทร ที่ผมเคยเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟังหลายครั้ง ทุ่นที่ลอยอยู่ในทะเลตอนนี้คือลูกที่ 5 ปล่อยลงทะเลจากแท่นผลิตปิโตรเลียม ปตท.สผ. ในบ่ายวันที่ 15 เดือนนี้ ทุ่นดังกล่าวติด GPS รายงานผ่านดาวเทียมให้ทราบเส้นทางตลอดเวลา เป็นทุ่นลอยผิวน้ำ บอกทิศทางการเคลื่อนที่ จุดสีแดงคือตำแหน่งทุ่นปัจจุบัน เห็นเส้นสีน้ำเงินคือจุดต่าง ๆ ที่ลอยผ่านมา ทิศทางของทุ่นลอยไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ หมายถึงน้ำไหลเข้าอ่าวไทย แม้ตำแหน่งทุ่นจะไม่ได้อยู่ในบริเวณเกิดเหตุหรือการค้นหา แต่ข้อมูลนี้บอกเราได้ว่า โอกาสที่ผู้สูญหายจะลอยออกไปจากอ่าวเป็นไปได้น้อย เพราะน้ำไหลเข้าอ่าว
เมื่อนำข้อมูลทั้ง 2 ส่วนมาประกอบกัน คงพอให้เพื่อนธรณ์เห็นภาพว่าทุกฝ่ายกำลังพยายามเต็มที่และสอดคล้องกับข้อมูลทางวิชาการ