เปิดใจ “นายกสมาคมทนายฯ” ยอมไม่ได้ทุจริตรถไฟฟ้าสีส้ม

เปิดใจ "นายกสมาคมทนายฯ" ยอมไม่ได้ทุจริตรถไฟฟ้าสีส้ม

ผ่านพ้นไปกว่า 3 ปีแล้ว แต่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายใต้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังไม่รู้ว่าจะจบแบบไหน อย่างไร แม้ว่าการประมูลครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้น โดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นเอกชนที่ได้รับการคัดเลือก

ล่าสุด นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นเพิ่มเติมกับทีมข่าว TOPNEWS ว่า ในฐานะองค์กรทางกฎหมาย สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ถือเป็นหน้าที่ต้องชี้นำในสิ่งที่มองว่าไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะหากมีการปล่อยปละละเลยไป หากมีคำถามว่า มีการฮั้วเกิดขึ้น แล้วประเทศจะอยู่เช่นไร เพราะโครงการนี้ มีส่วนต่างในเรื่องผลประโยชน์จากการประมูลครั้งที่ 1 และ 2 เกิดขึ้นถึงกว่า 68,000 ล้านบาท

นายนรินท์พงศ์ ระบุด้วยว่า เรื่องที่เกิดขึ้นได้มีการติดตามมาตั้งแต่ปี 2563 ที่คุณจิรายุ ห่วงทรัพย์ ได้นำเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้ม มาอภิปรายในรัฐสภาอย่างร้อนแรง ที่มีการกำหนดเพื่อเปลี่ยนหลักเกณฑ์ เปลี่ยนทีโออาร์ เพื่อจะเอื้อประโยชน์ ให้อีกฝ่ายหนึ่ง

สาระสำคัญของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้รับทราบว่าจะมีการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร และก่อนที่รัฐบาลจะอนุมัติ จะต้องส่งทีมสำรวจ ตรวจสอบเส้นทางพร้อมกำหนดรายละเอียดต่างๆ และทำแบบศึกษาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยใช้เงินในการทำการศึกษาแผนต่างๆ จำนวนมาก เพื่อกำหนดสเปคของรูปแบบการก่อสร้าง สเปคของผู้รับเหมา กว่าที่จะมีการเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สามารถดำเนินการได้หรือไม่

และ ในปี 2554 ครม. ได้มีการอนุมัติให้มีการศึกษาโครงการฯ ซึ่งทีมศึกษาพร้อมจ่ายเงินค่าจ้างให้ผู้ดำเนินการ เนื่องจากโครงการนี้มีเส้นทางที่ยาวสุด วงเงินโครงการจึงมีมูลค่าสูงกว่า 2 แสนล้านบาท เพราะมีการลอดแม่น้ำเจ้าพระยา และผ่านเกาะรัตนโกสินทร์ สิ่งสำคัญคือเรื่องของเทคนิค ในการก่อสร้างที่ปลอดภัย ซึ่งจะต้องมีการเสนอผู้รับเหมาที่มีคุณสมบัติดังกล่าว และ โครงการนี้ ใช้ระยะเวลาศึกษาถึง 7 ปี ก็เห็นว่า สามารถดำเนินการได้ รวมถึงแบบการลงทุนทุกอย่างเพื่อเสนอครม. พิจารณา หลังจากนั้นครม. ได้มีการอนุมัติ หลักการ เรื่องโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในปี 2563 และครม. เห็นว่าในเรื่องหลักการหากมีการขายซองเสนอราคา คณะกรรมการมาตรา 36 จะต้องมีหน้าที่ตรวจ คัดเลือกว่าใครจะได้เป็นผู้รับเหมา ซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้ชัดเจน

โดยคณะกรรมการมาตรา 36 จะต้องไปดำเนินการร่างหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้รับเหมาว่าจะต้องมีคุณสมบัติเช่นไร เพื่อเปิดขายซองเสนอราคา และเมื่อการดำเนินการทั้งหมดเป็นไปอย่างถูกต้องครบถ้วนกระบวนความ จึงมีกำหนดในการซื้อซองเสนอราคาโดยภาคเอกชนที่สนใจจะเข้ามาร่วมลงทุนในครั้งนี้

 

นายนรินท์พงศ์ กล่าวว่า จากที่รับทราบมีเอกชนสนใจซื้อซองเสนอราคากว่า 10 ราย แต่มีผู้ที่สนใจยื่นซองเสนอราคาเพียงแค่ 2 รายเท่านั้น ซึ่งก็คือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM แต่ปรากฏว่าในการยื่นสองครั้งนั้นไม่ได้มีการเปิดซองเสนอราคา เพราะมีการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการมาตรา 36 ว่า ไม่ให้ทำ ไม่สามารถทำได้เพราะมีการกำหนดสเปคให้มี การลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง

ซึ่งทำให้มีข้อสังเกต ว่า หนังสือโต้แย้งหรือหนังสือคัดค้านฉบับดังกล่าว ไม่ได้มาจากหน่วยงานเอ็นจีโอหรือหน่วยงานของรัฐ แต่มาจากอิตาเลียนไทย ที่ยื่นไปยังคณะกรรมการมาตรา 36 และเห็นด้วยจึงสั่งให้มีการหยุดการขายซอง ก่อนจะดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งเป็นข้อพิรุธที่สังเกตได้จากการอภิปรายของนายจิรายุ โดยสมาคมฯ ได้มีการศึกษาตามมาอย่างต่อเนื่อง จนนำมาสู่การยกเลิกการประมูลครั้งที่หนึ่ง

และ BTSC ได้ยื่นฟ้องศาลปกครอง โดยระบุว่าการยกเลิกการประมูลและการแก้ไขทีโออาร์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลปกครองระบุว่า จากการไต่สวน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ได้กระทำการไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะทำการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งรฟม. ได้มีการยื่นอุทธรณ์เพื่อระบุว่าสิ่งที่ตนเองดำเนินการนั้นเป็นการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการต่อสู้คดีกันยาว

ทาง Facebook ของสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ได้เขียนไว้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการเลี่ยงบาลี เพราะไม่ได้สู้ในเรื่องที่ได้ยื่นอุทธรณ์ ว่า เรื่องที่ BTSC ยื่นหรือรฟม.ยื่นเป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หลังจากนั้น ไม่นานทางด้านของรฟม. ได้มีการถอนอุทธรณ์ทิ้ง เพราะมีกุนซือดี เพราะเมื่อถอนอุทธรณ์ทิ้ง คำวินิจฉัยนั้นจะตกไป เพราะรฟม. มีอำนาจไปดำเนินการใหม่ จะเห็นได้ว่า เรื่องนี้จากที่จะพิสูจน์ว่าการกระทำของฝ่ายใดถูกหรือผิดแต่กลับจบลงด้วยช่องว่างทางกฎหมาย หลังจากนั้นรฟม. ได้ดำเนินการแก้ไขหลักเกณฑ์ใหม่

โดยในส่วนของหลักเกณฑ์เก่านั้น ไม่ว่าผู้ประกอบการรายใดจะชนะการประมูล จะเป็นหลักเกณฑ์เทคนิค + ราคา ซึ่งบริษัทที่จะผ่านคุณสมบัติจะต้องมีเรื่องเทคนิค และที่สำคัญคือราคาจะต้องต่ำสุด จึงมีการตั้งคำถามว่าในวันนั้นฝ่ายใดเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดก็ไม่สามารถตอบได้เพราะไม่มีการเปิดซองเสนอราคา แต่วันนี้เมื่อมีการเปิดซองเสนอราคาของบีทีเอส หากไม่มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การประมูล และมีการประมูลอย่างถูกต้องทางบีทีเอส ได้เสนอขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอยู่ที่ประมาณ 9,000 ล้านบาท ซึ่งในโครงการร่วมทุนเช่นนี้จะต้องมีทั้งเงินรัฐบาลและเงินจากเอกชนมาร่วมกัน

โดยหลังจากที่มีการยกเลิกการประมูลในครั้งแรกและนำมาสู่การประมูลในครั้งที่ 2 ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ หรือทีโออาร์ใหม่ ก็มีการกำหนดหลักเกณฑ์มากมาย มีการคัดคุณสมบัติ และมีการล็อคสเปคให้เหลือผู้ประกอบการกี่ราย ซึ่งตนเองได้นำข้อมูลมาจากหลายหลายส่วน ทั้งจากคณะกรรมาธิการคมนาคม เพื่อมาวิเคราะห์ และได้ออกมาชี้แจงว่า ทีโออาร์ใหม่เมื่อกำหนดแล้ว ทำให้การได้งานใหม่ของผู้รับเหมาใหม่ จากเดิมบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ยื่นเสนอประมูล ขอรับเงินสนับสนุน ที่ 9,000 ล้านบาท และผู้ประกอบการรายใหม่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดซองเสนอราคาได้ขอสนับสนุนจากภาครัฐ อยู่ที่ 78,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับบีทีเอสจะทำให้มีส่วนต่างอยู่ที่ 68,000 ล้านบาท

ดังนั้น จึงไม่ต้องหาคำตอบว่าการดำเนินการนั้นเป็นการล็อคสเปค ให้ใครหรือไม่ แต่ต้องการถามว่าเหตุใดเมื่อปี 2563 หากปล่อยให้มีการชนะประมูลเกิดขึ้น รัฐบาลจะเสียเงินสนับสนุนไม่เกิน 9,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ผ่านมาแล้วกว่า 3 ปี ประชาชนต้องการที่จะใช้บริการจำนวนมาก

 

ข่าวที่น่าสนใจ

นายนรินท์พงศ์ ระบุด้วยว่า ในฐานะนักกฎหมาย จากข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ของการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมีการล็อคสเปค หรือดำเนินกระบวนการอะไรถือเป็นพฤติกรรมที่น่าเชื่อว่า มีการเอื้อประโยชน์ ซึ่งจากที่เฝ้าสังเกตมากกว่า 2 ปี แทนที่โครงการนี้จะจบแบบมีการโต้แย้งว่า การดำเนินการจุดไหนไม่ถูกต้องและกลับไปดำเนินการให้ดีขึ้น และเหตุใดในวันนี้จึงไม่กลับไปประมูลให้ถูกต้อง แก้ไขให้ถูกต้อง เมื่อยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 ได้ ก็ยกเลิกการประมูลครั้งที่ 2 ได้ ที่มีความไม่โปร่งใสไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเขียนทีโออาร์ ใหม่ โดยให้ทุกอย่างอยู่บนความเสมอภาค ไม่เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและผลประโยชน์ตกอยู่กับชาติ

แต่หากวันนี้ยังปล่อยประละเลยหรือตั้งเป้านำมาฟอกขาวในครม. แล้วครม.สามารถยอมรับสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลหรือไม่ ซึ่งหากปล่อยให้มีการดำเนินการต่อไปก็จะนำมาซึ่งคดีความอีกมากมาย และครม. ผู้อนุมัติจะต้องร่วมรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก็ตาม โดยเฉพาะในเรื่องของคดีจะมีผลผูกพัน และทำให้ต้องขึ้นศาลฎีกา แผนกคดีอาญานักการเมือง ซึ่งก็ไม่ได้คาดหวังให้เป็นเช่นนั้น

นายนรินท์พงศ์ กล่าวว่า ตนเองในส่วนของภาคประชาชนต้องการให้มีการตรวจสอบในเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งในปี 2563 ก่อนที่จะมีการยกเลิกการประมูลผู้ที่ชนะการประมูลอาจจะเป็นได้ทั้ง บีทีเอส และ BEM และวงเงินที่จะขอใช้สนับสนุนจากรัฐบาลคาดว่า สูงสุดจะไม่เกิน 20,000 ล้านบาท และเมื่อผ่านมาถึง 2 ปี คือการประมูลครั้งที่ 2 ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) มีการเปิดประมูลในสเปคเดียวกัน ไม่ว่า จะเป็นระยะทางหรือขนาดเสาโครงสร้างที่เหมือนกันกับการประเมินครั้งที่ 1 แต่กลับมีวงเงินในการขอสนับสนุนจากรัฐบาลต่างกันถึง 68,000 ล้านบาท ซึ่งสร้างความน่าสงสัยให้กับสังคมเป็นอย่างมาก

และปัญหาที่ทางด้านของสมาคมทนายความฯ เล็งเห็นและมีความจำเป็นต้องโพสต์ Facebook ได้ถือเป็นกระบวนการหรือนอตตัวเล็กๆ เพื่อสะท้อนว่าภาครัฐได้ขาดกระบวนการตรวจสอบ และสิ่งที่ตนเองทนไม่ได้คือเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นวันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เราได้เห็นภาพ 2 ภาพเหมือนกัน

โดยภาพแรก เป็นภาพนายกรัฐมนตรียกมือขึ้นทุบหน้าอก พร้อมตะโกนว่า ช่วยกันปราบโกง ใครรู้เบาะเเสให้ชี้มา ขณะที่อีกเวทีหนึ่งนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวด้วยถ้อยคำน้อยเนื้อต่ำใจว่า ตนในฐานะนักธุรกิจ ธรรมาภิบาลได้รับรางวัลดีเด่น และทำอะไรตรงไปตรงมาตลอดชีวิตที่ทำธุรกิจมาไม่เคยล้มเหลว ไม่เคยทุจริต แต่กลับโดนรังแกและโดนกระบวนการต่างๆ ในปัจจุบัน สร้างความรู้สึกว่า นี่เหรอคือบ้านเมืองเราและสร้างความสงสัยว่าเหตุใดผู้มีอำนาจรัฐ จะใช้อำนาจรัฐโดยไม่เกรงกลัวต่อกระบวนการตรวจสอบ เนื่องจากมีการตั้งเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาตรวจสอบเอง และเข้าไม่ถึงข้อพิรุธหรือความไม่ปกติในเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ จะต้องมองย้อนกลับไปว่า สังคมและตนเองในภาคประชาชน มองว่า รฟม. และคณะกรรมการ ม.36 รวมถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคม ที่มีนายโสภณ ซารัมย์ เป็นประธาน มีนาย ทวีสอดส่อง เป็นรองประธาน ฯ และ ส.ส.ของพรรคก้าวไกล ซึ่งมีอำนาจที่จะเรียกทุกฝ่ายเข้ามาสอบถามถึงผลการประมูล ซึ่งทางด้านของรองประธานคณะกรรมาธิการ ได้ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า การเข้ามาให้ปากคำของรฟม. นั้นมีความบิดไปบิดมาไม่ตรงและขอเอกสารก็ไม่ได้รับความร่วมมือ

นายนรินท์พงศ์ ระบุอีกว่า ผมเชื่อในคณะกรรมาธิการชุดนี้ แต่ไม่นับรวมประธานคณะกรรมาธิการ จะให้ความเป็นธรรมกับเรื่องนี้ ซึ่งก่อนประธานคณะกรรมาธิการได้มีการออกมาตั้งโต๊ะแถลงที่รัฐสภาว่า จากการตรวจสอบไม่พบข้อพิรุธใดใดในการเปลี่ยนระยะเวลา และวงเงินที่เปลี่ยนแปลงไปถึง 68,000 ล้านบาท ก็ไม่มีข้อพิรุธใดๆ และไม่ได้มีความผิดปกติเพราะต่างกรรมต่างวาระ และสอง ทางด้านของบีทีเอส ไม่ได้มีการยื่นซองเสนอราคา เหตุใดจึงออกมาพูด ซึ่งสาเหตุที่บีทีเอสไม่ได้ยื่นซองการประมูล เนื่องจากมีการกำหนดหลักเกณฑ์ทำให้บีทีเอสไม่สามารถยื่นประมูลได้ ทำให้ตนเองรู้สึกว่า หากอยู่อย่างนี้ต่อไปแล้วประเทศชาติเป็นเช่นนี้จะไปต่อไม่ได้ เพราะเม็ดเงิน 68,000 ล้านบาท จะถูกนำไปใช้ในกระบวนการที่จะต้องมีการใช้เงินในระยะเวลาของการเลือกตั้งที่ผ่านมา และมีการตรวจสอบหรือไม่ว่าเงินก้อนนี้ที่เกินมาเป็นเงินมาจากไหน ซึ่งไม่มีการออกมาชี้แจงว่าวงเงินที่เกินมา มาจากเหตุใด เพื่อให้สังคมมีความเข้าใจที่ตรงกัน ซึ่งทางด้านของคณะกรรมาธิการชุดนี้ได้เตรียมนำข้อมูลนี้เข้าไปสู่ ญัตติอภิปรายในช่วงที่เหลือแต่กลับถูกตีตก เพราะมองว่ากรณีที่เกิดขึ้นควรมีการชี้แจงให้สังคมได้เข้าใจเพราะ เป็นตัวแทนของประชาชน แต่ทางด้านของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกลับเพิกเฉย นิ่งเฉย ปล่อยปะละเลย ซึ่งใน Facebook ของสมาคมฯ ตนได้เขียนเอาไว้ว่า ผู้นำของประเทศหากปล่อยปละละเลยให้มีการเอื้อประโยชน์หรือมีพฤติกรรมที่สอบไปในทางทุจริตคอร์รัปชั่น ผู้นำประเทศโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี จะต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหตุใดสังคมไทยกลับนิ่งเฉยไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองที่อยู่ในรัฐสภา เพราะเม็ดเงินสูง 68,000 ล้านบาท เหตุใดจึงไม่มีใครออกมาต่อสู้เรื่องนี้เพื่อหาความกระจ่าง

นายนรินท์พงศ์ กล่าวว่า วันนี้ทางด้านสมาคมฯ ไม่มีอะไรจะพูดมาก แค่อยากจะส่งเสียงไปบอกว่าผู้มีอำนาจว่าเรื่องใดที่ไม่ถูกต้องก็ให้ทำให้ถูกต้อง และมีเหตุและผลมานำว่าเม็ดเงิน 68,000 ล้านบาท ที่เกินมามีเหตุและผลอะไรที่เม็ดเงินจึงเกินมาซึ่งเชื่อว่าทุกคนจะยอมรับได้แต่ปรากฏว่าไม่มีการชี้แจงปล่อยให้เหตุการณ์อึมครึม และปล่อยให้รัฐบาลนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.และอุ้มให้โครงการนี้ผ่านไป จากนั้นให้มีการนำเอาวงเงิน 68,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนไปใช้เช่นนั้นหรือ ซึ่งตนทนเรื่องนี้ไม่ได้ ตนเป็นแค่หน่วยงานเล็กๆ ที่ต้องการกระตุ้นให้รัฐบาลชุดนี้เข้ามาดำเนินการตรวจสอบตามที่สังคมชี้นำ เพราะมองว่า นายกรัฐมนตรีควรเข้ามายุติ หรือหาทางออกที่ถูกต้อง ซึ่งตนเองยอมรับได้หากเป็นการดำเนินการที่ถูกต้อง และวงเงินที่เกินมามีที่มาและที่ไป

 

 

ทั้งนี้ เชื่อว่า หากปล่อยให้การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มแล้วเสร็จตั้งแต่การประมูลครั้งแรก ปัจจุบันก็จะสามารถใช้บริการได้แล้ว และเรื่องนี้คงจบลงแล้ว แต่การกระทำที่เกิดขึ้นได้สร้างความสงสัย ว่า การดำเนินโครงการมีนอกมีในหรือไม่ จนนำมาสู่คดีความมากมาย

นายนรินท์พงศ์ กล่าวว่า สิ่งที่ตนเรียกร้องคือต้องการให้มีการเริ่มต้นการประมูลใหม่โดยเขียนกติกาใหม่ไม่ให้เอื้อประโยชน์จากนั้นให้ทำราคาที่มีความเป็นธรรมมากที่สุดเพื่อประโยชน์ของรัฐและประโยชน์ของประชาชนที่อยากให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการได้

นายนรินท์พงศ์ ยืนยันว่าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่ได้ต้องการตัดสินว่า ใครเป็นคนถูก หรือผิด เพราะตนมองโลกในแง่บวกแต่เมื่อสังคมเกิดความสงสัย ซึ่งจริยธรรมของนักการเมืองหากมีการตั้งข้อสงสัยก็จะต้องมีการหยุดดำเนินการ เช่นเดียวกับโครงการนี้เมื่อมีข้อสงสัย ก็ต้องหยุด และนายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด และต้องการที่จะปราบโกง เมื่อไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นเรื่องโกง ให้รีบถอยกลับมา และตั้งคณะกรรมการมาตรา 36 เพื่อกำหนดทีโออาร์และนำทุกฝ่ายมาหารือร่วมกัน และกำหนดทีโออาร์ให้มีความเป็นธรรมและไม่เป็นภาระของประเทศ กลับมาอยู่ที่รัฐสนับสนุนวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท หรืออาจมีอัตราดอกเบี้ยบ้างเล็กน้อยแต่ไม่เกิน 68, 000 ล้านบาท

นายนรินท์พงศ์ กล่าวว่า ในส่วนของ ผู้ว่าการ รฟม. เท่าที่ทราบตามสำนวนที่มีการฟ้องที่ศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบว่า การยกเลิกหรือแก้ไขหลักเกณฑ์ ผู้ว่าการ รฟม. ก็ถือเป็นจำเลยด้วย เพราะในส่วนคณะกรรมการม.36 โดยหลักแล้วตามกฎหมายได้ห้ามไม่ให้ผู้ว่าการ รฟม. เข้าไปเป็นคณะกรรมการ ม. 36 เพราะมีความขัดแย้ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ในคณะกรรมการชุดนี้กลับมีผู้ว่าการ รฟม. อยู่ในการพิจารณาด้วย

ขณะเดียวกัน ในการเคาะว่า จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ทีโออาร์ใหม่หรือไม่นั้น ทุกคนยกมือเห็นด้วย แต่ทางด้านของสำนักงบประมาณ โดยนางกนกรัตน์ ขุนทองไม่เห็นด้วย พร้อมทำบันทึกทิ้งไว้ว่าการแก้ไขหลักเกณฑ์ที่เกิดขึ้นไม่น่าชอบด้วยกฎหมายเพื่อเป็นหลักฐาน

ดังนั้น เมื่อทีโออาร์ครั้งที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้กลับมาใช้ทีโออาร์ฉบับแรก ซึ่งก็ทำให้รัฐบาลเสียเงินอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท และเม็ดเงินที่เกินไปกว่า 68,000 ล้านบาท ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อประเทศชาติได้อย่างหลากหลาย หากโครงการนี้ ผ่านพ้นไป ก็ไม่ทราบว่า เม็ดเงินดังกล่าวจะตกอยู่ที่ใด

นายนรินท์พงศ์ ระบุว่า ในส่วนของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานการปราบโกง หากมีคนมาชี้ว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมีส่วนต่างราคาที่แตกต่างกันถึง 68,000 ล้านบาท จะต้อง มีการตั้งคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบเพื่อหาความจริงมาตอบสังคมให้ได้ และย้ำว่า ถ้าวันนี้ นายกรัฐมนตรี เพิกเฉย ปล่อยปละละเลย จนนำไปสู่การทุจริต หรือมีเหตุไม่ควรในเรื่องนี้ ตัวนายกรัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบด้วยกันทุกคน

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ทางด้านของสมาคมทนายความฯ ในฐานะภาคประชาชน ได้กำลังประชุมหารือเพื่อหาช่องทางที่ภาคประชาชนจะสามารถดำเนินการได้เพื่อฟ้องศาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับผิดชอบว่า เหตุการณ์โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ และมีการส่อไปในทางทุจริตเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายในประเทศชาติ และพยายามไม่ให้มีการนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมครม.เพื่อฟอกเรื่องให้เป็นขาว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ทางครม. ออกมาระบุว่า การเปลี่ยนหลักเกณฑ์โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ในการประมูลครั้งที่ 2 เหตุใดจึงไม่นำเข้าสู่ที่ประชุมครม. และถือเป็นข้อพิรุธได้หรือไม่ นายนรินท์พงศ์ ระบุว่า เรื่องราวดังกล่าวถือเป็นข้อพิรุธ เพราะการแก้ไขหลักเกณฑ์ ทีโออาร์ จะต้องมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.เพื่อพิจารณา เห็นชอบหลักเกณฑ์เสียก่อน จึงจะสามารถดำเนินการต่อได้

ส่วนความคืบหน้าการฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง หลังศาลมีคำสั่งยกฟ้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์ โดยจะมีการนำเสนอถึงเรื่องของพิรุธที่วงเงินเพิ่มขึ้นมาถึง 68,000 ล้านบาท

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ครูบาอริยชาติ เกจิภาคเหนือวัดแสงแก้วโพธิญาณ เชียงราย สร้างพระพุทธเมตตา จากหยกรัสเซียใหญ่ที่สุดในโลก น้ำหนักกว่า 10 ตัน
นายกฯ-สามี พา "น้องธิธาร" ลูกสาว วิ่งเล่นสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า
กระทรวงดีอี – ดีป้า เปิดศึกบิน – ซ่อมโดรนเกษตรชิงแชมป์ประเทศไทย ในรายการ “Thailand Agriculture Drone Competition 2024”
รพ.อาภากรเกียรติวงศ์ฯ นำ จนท.ตรวจสารเสพติดทหารใหม่ 2,911 นาย เพื่อค้นหาผู้เสพยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา
รถบรรทุกปูนพลิกคว่ำขวางถนนรถติดยาวหลายกิโล
รองนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำภาคอีสาน คุมเข้มแผนบริหารจัดการน้ำ พร้อมเร่งขับเคลื่อนมาตรการแก้ปัญหาภัยแล้ง
เลือกตั้งสหรัฐ: ทั้งสองพรรคมั่นใจว่าจะชนะเลือกตั้ง
แคปซูลส่งกลับ 'เสินโจว-18' ของจีนแตะพื้นโลกปลอดภัย
ผู้เสียหายรวมตัวแจ้งความ "หมอดูฮวงจุ้ยชื่อดัง" เอาผิดฐานฉ้อโกง หลังหลอกให้สั่งซื้อวัตถุมงคลแพงลิ่ว
แวะปั๊มก่อนเลย พรุ่งนี้น้ำมันขึ้นราคา เบนซิน-แก๊สโซฮอล์ ปรับทุกชนิด

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น