ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายธนาธร ในฐานะอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และพรรคอนาคตใหม่ ร่วมกันเป็นโจทก์ที่ 1-2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายเกรียงศักดิ์ ม่วงอ่อน ประธานคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนคดียุบพรรค อนค., นายนิยต ดำรงประภักดิ์, นายสุชาติ เพชรอาวุธ ทั้งสองเป็นกรรมการสืบสวนและไต่สวน
พ.ต.ต.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต., นางสุกัญญา รัตนนาคินทร์, พล.ท.สมชาย ชัยวณิชยา, พ.ต.อ.ชนะชัย ลิ้มประเสริฐ ทั้งสาม เป็นคณะอนุกรรมการวินิจฉัย, นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต., นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์, นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย, นายฉัตรชัย จันทร์พรายศรี, นายปกรณ์ มหรรณพ, นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ, นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ ทั้ง 7 เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นจำเลยที่ 1-14
ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเสียหายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 มาตรา 69 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86 กรณีทำสำนวนคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ไม่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอน มีลักษณะเร่งรัดคดี ต่อศาล ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ต่อมา วันที่ 2 เมษายน 2563 ศาลศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 14 คน
โดยศาลให้เหตุผลการยกฟ้องว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน เพื่อรวบรวมหลักฐานและแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีมีผู้ร้องกล่าวหานายธนาธร อดีตหัวหน้าพรรค และพรรค อนค. เกี่ยวกับเงินกู้ยืม เป็นการแต่งตั้งไปตามอำนาจหน้าที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560, ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน การวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 และคณะอนุกรรมการวินิจฉัยได้ทำความเห็นเสนอ กกต.พิจารณาตามอำนาจหน้าที่
การพิจารณาเรื่องที่จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค อนค. โจทก์ที่ 2 เริ่มวันที่ 26 พ.ย.62 ที่จำเลยที่ 8-14 มีมติในที่ประชุมว่าเพื่อให้การดำเนินการต่อกรณีที่กล่าวหาว่ามีกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงให้เลขาธิการ กกต.จำเลยที่ 4 ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณาและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560
และในส่วนของอำนาจหน้าที่ กกต.จำเลยที่ 8-14 กรณีดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้วในคดีที่มีการยื่นคำร้องยุบพรรค โจทก์ที่ 2 ว่า ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพัน รัฐสภา, คณะรัฐมนตรี, ศาล, องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 มาตรา 211 การกระทำของจำเลยทั้ง 14 คน จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง