วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวยากลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการตามมาตรการบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เห็นชอบขยายพื้นที่เยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการโควิด-19 จาก 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด เพิ่มจ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา ใน 9 ประเภทกิจการ ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมบริการด้านอาหาร กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ กิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า สาขาขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ สาขากิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน สาขากิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และสาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร โดยให้มีอัตราการจ่ายและวิธีการจ่ายเงินเช่นเดิม ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม สั่งการเร่งรัดให้สำนักงานประกันสังคมเร่งจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ประกันตน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้างและลูกจ้าง
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับการจ่ายเงินเยียวยานายจ้างและลูกจ้าง มาตรา33 ในพื้นที่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา มีผู้ประกันตนได้รับสิทธิจำนวน 272,746 คน นายจ้าง 19,213 ราย ใช้วงเงินทั้งสิ้น 1,522 ล้านบาท แยกเป็น นายจ้าง 841 ล้านบาท และลูกจ้าง 681 ล้านบาท โดยจะโอนเงินในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ ให้ลูกจ้างผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเท่านั้น
ส่วนนายจ้างบุคคลธรรมดา จะโอนเงินผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเช่นกัน และนายจ้างสถานะนิติบุคคล จะโอนเข้าบัญชีธนาคารตามชื่อนิติบุคคลนายจ้าง ทั้งนี้ผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถตรวจสอบสิทธิโครงการเยียวยาได้ที่ https://www.sso.go.th หรือโทรศัพท์ สายด่วนประกันสังคม 1506 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกันตน ม. 33 ใน 9 กลุ่มกิจการในพื้นที่ 10 จังหวัดแรกจะทยอยได้รับเงินในรอบการโอนเงินงวดแรกวันที่ 4-6 ส.ค.64