วันที่ 31 ก.ค. 2564 สำนักวิจัยซูเปอร์โพล นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง “วิกฤตศรัทธาต่อระบบราชการ ยามวิกฤตโควิดและปากท้อง” โดยศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศจำนวน 1,142 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24 – 30 ก.ค. 64 พบว่า เมื่อถามถึงสภาพที่เป็นอยู่ของระบบราชการในสภาวะวิกฤตโควิดและปากท้องของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 96.5 ระบุ กลไกรัฐ ระบบราชการมีปัญหา ช่วยเหลือประชาชนไม่ได้ และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.5 ระบุปัญหาในสภาวะวิกฤต เจ้าหน้าที่ในระบบราชการไม่ตอบโจทย์ความต้องการจำเป็นเร่งด่วนของประชาชนได้ ประชาชนขาดที่พึ่ง และหมดความน่าเชื่อถือ
เมื่อถามถึงประสบการณ์และความเห็นต่อการทำงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ในสภาวะวิกฤตโควิดและปากท้องของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 67.5 ระบุ ทำงานล่าช้า ร้อยละ 63.2 ระบุ ทุจริต คอร์รัปชั่น ร้อยละ 60.8 ระบุ ไม่มีแผนที่ดีรับมือวิกฤต ร้อยละ 57.1 ระบุ ไม่มีการทำงานเชิงรุก เข้าไม่ถึงประชาชน ร้อยละ 54.7 ระบุ ทำงาน ผักชีโรยหน้า หลอกตาผู้บังคับบัญชาและประชาชน ร้อยละ 49.8 ระบุ ปล่อยปละละเลย ความเดือดร้อน ทุกข์ยากของประชาชน ร้อยละ 48.5 ยึดระเบียบ กฎเกณฑ์มากเกินไป ร้อยละ 42.7 ระบุ ผลักภาระ โยนความเดือดร้อนของประชาชนกันไปมา ไม่เข้าช่วยเหลือประชาชน และร้อยละ 41.5 ระบุ ไม่ตรงไปตรงมา ไม่โปร่งใส
ผลการสำรวจ 5 อันดับแรก หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานรัฐ กระทรวงต่างๆ ที่ต้องเร่งปรับปรุงตัวช่วยประชาชนอย่างเร่งด่วน พบว่า อันดับที่มากที่สุดคือ กระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 83.0 รองลงมาอันดับที่สอง คือ กระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 64.9 อันดับที่สามคือ กระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 53.9 อันดับที่สี่คือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร้อยละ 53.2 และอันดับที่ห้า คือ กระทรวงศึกษาธิการ ร้อยละ 40.1
เมื่อจำแนกออกเป็นคนกรุงเทพฯ และคนต่างจังหวัด กลับพบว่า อันดับที่สูงสุดของคนกรุงเทพฯ ที่ต้องการให้หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานรัฐ ปรับปรุงตัวช่วยประชาชนอย่างเร่งด่วนที่สุดได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 88.0 คนต่างจังหวัดร้อยละ 81.3 รองลงมาคือ หัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 78.4 ของคนกรุงเทพมหานคร คนต่างจังหวัดร้อยละ 50.5 ในขณะที่ กระทรวงมหาดไทย พบคนกรุงเทพฯร้อยละ 27.9 คนต่างจังหวัดร้อยละ 56.6 และกระทรวงพาณิชย์ คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 26.1 และคนต่างจังหวัดร้อยละ 69.1