กรมอนามัย แนะ 5 วิธี กิน "หมูกระทะ" ปิ้งย่าง อย่างปลอดภัย ปลอดไข้หูดับและมะเร็ง
ข่าวที่น่าสนใจ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ 5 วิธี กินปิ้ง–ย่าง ให้ปลอดภัย จากการแชร์ในโลกออกไลน์กิน “หมูกระทะ” แล้วคาดว่าติดเชื้อโรคสเตรปโตคอคคัส ซูอิส หรือไข้หูดับ ย้ำ ทุกเมนูอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ ควรผ่านการปรุงให้สุกอย่างทั่วถึง เลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมันที่อาจทำให้เกิดสารก่อมะเร็งได้
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หมู กระทะ หรืออาหารปิ้ง-ย่าง เป็นเมนูที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากช่วงหน้าหนาว แต่แฝงด้วยอันตรายหากกินแบบไม่ปลอดภัย เพราะ อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้หูดับ จากการ
- กินเนื้อสัตว์สุก ๆ ดิบ ๆ
- ใช้ตะเกียบคีบรวมกันระหว่างเนื้อที่ปรุงสุกแล้วกับที่เนื้อที่ยังดิบอยู่
รวมทั้งเสี่ยงต่อการได้รับสารพีเอเอชหรือสารกลุ่มโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbon) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกับที่เกิดใน
- ควันไฟ
- ไอเสียของเครื่องยนต์
- ควันบุหรี่
- เตาเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม
โดยสารนี้จะพบในบริเวณที่ไหม้เกรียมของอาหารที่ปรุงด้วยการปิ้ง ย่าง หรือรมควันของเนื้อสัตว์ที่มีไขมันหรือมันเปลวติดอยู่ เช่น
- หมูย่างติดมัน
- เนื้อย่างติดมัน
- ไก่ย่างส่วนติดมัน
เนื่องจาก ขณะปิ้งย่าง ไขมันหรือน้ำมันจะหยดไปบนเตาไฟ ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดสารพีเอเอชลอยขึ้นมาพร้อมเขม่าควันเกาะที่บริเวณผิวของอาหาร หากกินเข้าไปเป็นประจำจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง
5 วิธี กิน “หมูกระทะ” หรือ อาหารปิ้ง-ย่างอย่างปลอดภัย
1. สุกทั่วถึง
- ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ประเภทใด ควรผ่านการปรุงให้สุกโดยใช้ความร้อนให้สุกอย่างทั่วถึงด้วยอุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 นาที
- การนำเนื้อสัตว์จุ่มลงไปเพียงไม่กี่วินาทีอาจจะทำให้เนื้อได้รับความร้อนไม่ทั่วถึง และเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคได้
2. แยกใช้อุปกรณ์
- อุปกรณ์และภาชนะต้องเน้นย้ำเรื่องสุขอนามัย
- ควรแยกใช้ระหว่างเนื้อที่สุกแล้วกับเนื้อดิบ โดยเฉพาะ เขียง ที่คีบ และตะเกียบ
- เพราะ การใช้อุปกรณ์ร่วมกัน จะทำให้เชื้อโรคจากเนื้อดิบมาปนเปื้อนในเนื้อที่สุกได้
- ระวังการนำตะเกียบที่ใช้คีบเนื้อดิบ คีบเนื้อสุกเข้าปาก
3. เลือกเนื้อสัตว์
- เลือกซื้อเนื้อสัตว์จากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ หรือมีการรับรองความปลอดภัยจากหน่วยงานราชการ
- เมื่อนำมาปรุงประกอบอาหารเลือกเฉพาะส่วนหรือที่มีไขมันติดน้อยที่สุด หรือควรตัดส่วนที่เป็นไขมันออกไปก่อนนำไปย่าง
- เพื่อลดไขมันที่จะไปหยดลงบนถ่าน และหลังปิ้งย่างควรหั่นส่วนที่ไหม้เกรียมออกให้มากที่สุด
- ถ้าต้องปิ้งย่างบนเตาถ่านธรรมดา ควรใช้ถ่านที่อัดเป็นก้อน ไม่ควรใช้ถ่านป่นละเอียด หรืออาจใช้ฟืนที่เป็นไม้เนื้อแข็ง เพราะ จะช่วยให้การเผาไหม้จะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ
4. ใบตองช่วย
- อาจจะใช้ใบตองห่ออาหารก่อนทำการปิ้งย่าง ซึ่งนอกจากจะลดปริมาณไขมัน จากอาหารที่หยดลงไปบนถ่านแล้วยังทำให้อาหารมีกลิ่นหอมใบตองด้วย
5. เลือกร้านอาหาร
- ควรเลือกร้านที่ใช้อุปกรณ์และภาชนะในการปิ้งย่างแยกกันอย่างชัดเจน
- และใช้เตาที่สามารถลดหรือป้องกันน้ำมันหยดลงบนเตาไฟได้ เช่น เตาไฟฟ้าหรือเตาไร้ควัน ซึ่งสามารถควบคุมระดับความร้อนได้มากกว่าการใช้เตาถ่าน
ทั้งนี้ ควรเสริมผักและผลไม้ เพื่อช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรค และควรกินอาหารให้มีความหลากหลายในปริมาณที่พอดีกับร่างกาย
สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวสายแคมป์ปิ้งหรือกางเต้นท์
- ต้องระมัดระวังอันตรายจากเตาไฟที่ใช้หลังกินเสร็จ
- ต้องมั่นใจว่าดับถ่านในเตาไฟจนสนิท เพราะ อาจทำให้เกิดไฟไหม้หรือการใช้เตาไฟฟ้า
- ต้องมั่นใจว่าอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ สายไฟไม่ชำรุด เพราะ อาจเสี่ยงทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้เช่นเดียวกัน
ข้อมูล : กรมอนามัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง