วันที่ 29 ธ.ค. 2565 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการ บูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อภาคการเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง เปิดเผยวันนี้ ภายหลังเป็นประธานการประชุม ครั้งที่ 4/ 2565 ว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อภาคการเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงโดยทำงานบูรณาการในพื้นที่กลุ่มลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดในภาคเหนือและภาคอีสานร่วมทำงานกับภาคีเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น หน่วยงานรัฐในจังหวัดร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (AIC)ประจำจังหวัด โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการดำเนินงานโครงการตามแผนพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยืน จำนวนทั้งสิ้น 83 โครงการ จำนวนงบประมาณ 13,082,440 บาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
ข่าวที่น่าสนใจ
ที่ประชุมยังได้หารือและรับทราบในเรื่องอื่นได้แก่ 1) แนวทางปฏิบัติในการใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่มีประสิทธิภาพสูงในพื้นที่แม่น้ำโขง (อวนลากทับตลิ่ง) จากประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดขนาดช่องตาอวนก้นถุงเครื่องมืออวนลากที่ให้ใช้ทำการประมง พ.ศ. 2558 ลงวันที่ 28ธ.ค. 2558ว่า เครื่องมือประมงอวนลากที่มีช่องตาอวนก้นถุงเล็กกว่าขนาดต่ำกว่า 4 ซม.และเป็นเครื่องมือทำการประมงที่ไม่สามารถทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยทั่วไปได้ โดยมีข้อยกเว้นที่กรมประมงสามารถอนุญาตให้ใช้เครื่องมือเหล่านี้ทำการประมงเพื่อการศึกษาวิจัยได้ 2) การสร้างทางผ่านปลาในกรณีที่มีการก่อสร้างประตูน้ำปิดกั้น ทางเข้า-ออกของสัตว์น้ำระหว่างแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา กรมประมง ได้มีข้อเสนอว่า ในทุกโครงการก่อสร้างเกี่ยวกับการสิ่งกีดขวางทางน้ำใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องมีการศึกษาและก่อสร้างทางผ่านปลาทุกโครงการเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสัตว์น้ำในส่วนฝายเดิมหรือฝายเก่าที่เกิดขึ้นแล้ว ให้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการศึกษาหรือออกแบบโดยอาศัยข้อมูลต่างๆ และความร่วมมือจากกรมประมง เพื่อให้ทางผ่านปลาที่จะเกิดขึ้นนั้นมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด
3) การสร้างทางผ่านปลาในกรณีที่มีการก่อสร้างประตูน้ำปิดกั้นทางเข้า-ออกของสัตว์น้ำ ระหว่างแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กรมประมงได้รับงบประมาณจากกรมชลประทาน จำนวน 500,000บาท เพื่อศึกษารูปแบบทางผ่านปลา โครงการประตูระบายน้ำบ้านวังชัน จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งได้ทำการศึกษาชนิดพันธุ์ปลา ปริมาณปลาที่พบ และข้อมูลอุทกวิทยาของแม่น้ำปราจีนบุรี ทั้งนี้ กรมประมง จะจัดทำรายงานเสนอ เพื่อประกอบการตัดสินใจออกแบบทางผ่านปลาที่เหมาะสม รวมถึงการจัดการควบคุมการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ
4) แนวทางการเพาะพันธุ์ปลาบึก เพื่อปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ วิธีการที่จะให้ผลดีที่สุดและมีผลกระทบต่อพันธุกรรมของประชากรธรรมชาติไม่มาก คือ การดำเนินการในลักษณะระบบเพาะพันธุ์เคลื่อนที่ (Mobile – Hatchery ) เป็นการนำพ่อแม่ปลาที่มีความพร้อมในการเพาะพันธุ์ที่จับจากแม่น้ำโขงในช่วงฤดูการอพยพขึ้นมาวางไข่ของปลาชนิดต่าง ๆ มาเพาะพันธุ์และปล่อยลูกปลาที่ได้กลับสู่แม่น้ำโขงโดยไม่มีการอนุบาลจนเจริญเติบโต
5) ในด้านความแปรปรวนทางพันธุกรรมจากการนำพลับพลึงแม่น้ำโขงที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกลับไปปลูกในธรรมชาติ จะทำให้เกิดความแปรปรวนทางพันธุกรรม หากมีการนำต้นพันธุ์ที่กรมประมงผลิตได้จากห้องปฏิบัติการไปปลูกคืนถิ่นเดิม จะไม่เป็นการก่อให้เกิดความแปรปรวนทางพันธุกรรมแต่อย่างใด โดยกรมประมง ได้ดำเนินการตามแผนการนำต้นพันธุ์พลับพลึงแม่น้ำโขงที่กรมประมงผลิตได้จากห้องปฏิบัติการนำไปปลูกคืนถิ่น ในพื้นที่ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย และบริเวณหาดคำภีร์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย
ที่ประชุม ยังได้รับทราบ(1) รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาการเกษตรในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนทบทวนแผนพัฒนาการเกษตร ในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนระดับจังหวัด ปี 2566 – 2570 โดยวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศแม่น้ำโขง สถานการณ์ปัจจุบัน และความต้องการจากผู้มีส่วนได้เสีย จัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมายโดยให้ความสำคัญกับกลุ่มพื้นที่ที่มีพื้นที่ติดแม่น้ำโขงเป็นลำดับแรก ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำสรุปแผนงานและโครงการภายใต้แผนพัฒนาการเกษตรในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืนระดับจังหวัด ปี 2566 – 2570 (ฉบับทบทวน) เรียบร้อยแล้ว และนำเสนอปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อลงนามหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาบรรจุไว้ในคำของบประมาณประจำปีต่อไป
และ (2) รายงานผลการดำเนินงานโครงการและกิจกรรม ด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวนโครงการ 23 โครงการ จำนวนงบประมาณ 9,204,796 บาท
โดยคณะกรรมการฯ มีมติให้การสนับสนุนการศึกษาดูงานโครงการสัมมนาสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการชุมชนเพื่อการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ แม่น้ำโขง ภายในโครงการผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้รับองค์ความรู้และประสบการณ์ไปปรับใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ และการรวมกลุ่มกันผลิต อันจะส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพของการร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะลงพื้นที่ดูงานร่วมกัน ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครพนม จังหวัดนครพนม ภายในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566
ทั้งนี้ผู้แทนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดได้กล่าวขอบคุณและชื่นชมกระทรวงเกษตรฯ.และกรมประมงสำหรับการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆและการทำงานร่วมมือกันอย่างมุ่งมั่นทำงานจริงจังเกินคาดหมายตลอดปี2565ที่ผ่านมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง