ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะนักวิชาการด้านวิศวกรรมขนส่ง โพสต์เฟซบุ๊กโดยระบุข้อความว่า สุดช็อก ! ข้อมูลใหม่ ดันผลต่างประมูลสายสีส้ม พุ่งจาก 6.8 เป็น 7.5 หมื่นล้าน เดิมเราเข้าใจกันว่า เงินสนับสนุนสุทธิในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2 มากกว่าครั้งที่ 1 ถึง 6.8 หมื่นล้าน แต่มาวันนี้ ตัวเลขนี้อาจพุ่งขึ้นเป็น 7.5 หมื่นล้าน ! ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?
1. การประมูลครั้งที่ 1
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประกาศเชิญชวนเอกชนให้ร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) แต่ในระหว่างการประมูล รฟม. ได้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล และในที่สุดได้ล้มประมูล
การประมูลครั้งที่ 1 มีเอกชนยื่นข้อเสนอ 2 ราย ประกอบด้วย (1) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC และ (2) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
แม้การประมูลครั้งที่ 1 จะถูกล้มไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อไม่นานมานี้ BTSC ได้ขอเอกสารที่ยื่นประมูลคืนจาก รฟม. และได้เปิดซอง “ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน” ต่อหน้าสื่อมวลชน พบว่า BTSC ได้เสนอเงินตอบแทนให้ รฟม. 70,144.98 ล้านบาท และขอรับเงินสนับสนุนจาก รฟม. 79,820.40 ล้านบาท เป็นผลให้ รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนสุทธิ (เงินที่ รฟม. ต้องสนับสนุน หักด้วย เงินตอบแทนที่ รฟม. ได้รับ) แก่ BTSC 9,675.42 ล้านบาท (79,820.40-70,144.98)
2. การประมูลครั้งที่ 2
หลังจากการประมูลครั้งที่ 1 ถูกล้มไปแล้ว รฟม. ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนให้ร่วมลงทุนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ปรากฏว่ามีเอกชนยื่นข้อเสนอ 2 ราย ได้แก่ (1) BEM และ (2) ITD Group ซึ่งประกอบด้วย ITD และ Incheon Transit Corporation หรือ ITC ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลี ส่วน BTSC ไม่สามารถยื่นข้อเสนอได้ เพราะหาผู้รับเหมามาเป็นผู้ร่วมยื่นข้อเสนอไม่ได้ เนื่องจากมีการปรับแก้คุณสมบัติของผู้รับเหมาให้ผ่านเกณฑ์ยากขึ้นกว่าครั้งที่ 1
ก่อนหน้าที่ BTSC จะเปิดซอง “ข้อเสนอการลงทุนและผลตอบแทน” ของตนเองนั้น รฟม. ได้เปิดซองดังกล่าวของ BEM และของ ITD Group พบว่า รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนสุทธิ (เงินที่ รฟม. ต้องสนับสนุน หักด้วย เงินตอบแทนที่ รฟม. ได้รับ) แก่ BEM 78,287.95 ล้านบาท และให้แก่ ITD Group 102,635.66 ล้านบาท ส่งผลให้ BEM เป็นผู้ชนะการประมูล เนื่องจาก รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนสุทธิน้อยกว่านั่นเอง
แต่อย่างไรก็ตาม รฟม. ไม่ได้เปิดเผยจำนวนเงินตอบแทนที่ BEM เสนอให้แก่ รฟม. และจำนวนเงินที่ BEM ขอรับเงินสนับสนุนจาก รฟม. เพียงแต่เปิดเผยจำนวนเงินที่ รฟม. จะต้องสนับสนุนสุทธิเท่านั้น