นายหวัง เจี้ยน (Mr. Wang Jian) ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกลุ่มบริษัท BGI เปิดเผยว่า ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อหารือด้านการแพทย์จีโนมิกส์ และการพัฒนาการด้านชีววิทยาศาสตร์ร่วมกับภาครัฐบาลและองค์กรต่าง ๆ และได้เข้าพบคารวะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยมุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยในการจัดตั้ง “International Innovation Center for Life” เพื่อยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์จีโนมิกส์ของภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางการรักษาโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยกว่า 600,000 คน โดยทาง BGI คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี ในการคิดค้นและทดสอบนวัตกรรมทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ และจะสามารถเปิดให้บริการกับประชาชนในประเทศไทยได้ นอกจากนี้ ยังได้พบกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือเกี่ยวกับการขยายความร่วมมือด้านการแพทย์ระบบสาธารณสุข และการพัฒนาด้านชีววิทยาศาสตร์ในประเทศไทยอีกด้วย
“เราเชื่อมั่นว่า “International Innovation Center for Life” จะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้ เพราะประเทศไทยมีบุคลากรทางการแพทย์เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีมาตรฐานและระดับการพัฒนาทางการแพทย์สูง รวมถึงในระดับนโยบายประเทศไทยมีแผนงานด้านจีโนมิกส์รองรับอยู่ จึงเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือของหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้องในหลาย ๆ หน่วยงาน ทั้งสองฝ่ายจะสามารถยกระดับความร่วมมือระหว่างกันในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญ การศึกษา การฝึกอบรมบุคลากร เพื่อให้คนรุ่นใหม่ก้าวทันเทคโนโลยี และสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อนำมาใช้พัฒนาประเทศได้”
นายหวัง เจี้ยน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ทาง BGI ยังได้หารือความร่วมมือกับ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงการพัฒนาความร่วมมือในการวิจัยและทดสอบนวัตกรรมใหม่ เพื่อให้การปลูกข้าวหรือการหว่านพันธุ์ข้าวเพียง 1 ครั้ง สามารถเก็บเกี่ยวได้นาน 5 ปี ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ลดต้นทุน ทั้งในเรื่องเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย น้ำ รวมถึงประหยัดทรัพยากรต่าง ๆ ลดการใช้พลังงาน และนำไปสู่การลดก๊าซคาร์บอนลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย ซึ่งทาง BGI มีเทคโนโลยีที่ทำได้สำเร็จแล้วในหลายพื้นที่ในประเทศจีน โดยเรื่องนี้จะมีการหารือในรายละเอียดอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
“ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ผมยังยึดมั่นในอุดมการณ์ และมีความเชื่อว่า การพัฒนาศาสตร์ด้าน Omics และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องจะเป็นคุณประโยชน์ต่อประชากรทุกคนบนโลก BGI จึงเป็นต้นแบบการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์โดยใช้เทคโนโลยีเฉพาะตัว รวมถึงการคิดค้นนวัตกรรม และยังมุ่งพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม พร้อมกับพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในการคิดค้นศาสตร์ใหม่ ๆ ลดต้นทุนการเข้าถึง และพร้อมจะร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อลดโอกาสการเกิดทารกที่มีความพิการแต่กำเนิด ช่วยยืดอายุของผู้ป่วยมะเร็ง การควบคุมโรคติดเชื้อ เพื่อทำประโยชน์ให้กับมนุษยชาติต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง”