วันที่ 29 ธันวาคม 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและเขตสุขภาพที่ 6 เดินทางมายังโรงพยาบาลเจ้าพระเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพื่อร่วมพิธีเปิด “หอพระอาคารธรรมรักษ์ และหอจิตตารมณ์” โดยมีคณะผู้บริหารโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้การต้อนรับ ซึ่งหอผู้ป่วยจิตตารมณ์ เป็นหอผู้ป่วยที่ใช้ดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้ ภายในงานมีการจัดนิทรรศการ Heritage of Well-being & Holistic Thai Wellness และกิจกรรมการตรวจ รักษา โดยหัตถการทางการแพทย์แผนไทย และ คลินิกหัตถเวชศาสตร์ ที่มุ่งเน้นการให้บริการรักษาเฉพาะโรคอย่างตรงจุด โดย หัตถการที่หลากหลาย เช่น การเผายา พอกยา กักน้ำมัน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมบริการส่งเสริมสุขภาพ Health & Wellness Tourism และการอบรม เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากสมุนไพร ภาคประชาชน เพื่อการพึ่งตนเอง พร้อมกันนี้ ยังได้นำเสนอเมนู อาหารเป็นยาจาก โคกหนองนา “ภัทร-ธรรมรักษ์นิเวศ” เน้นการใช้โมเดลความยั่งยืนทางธรรมชาติ เพื่อความมั่นคงทางยา อาหาร และ สุขภาพ
จากนั้น พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ได้นำเสนอนโยบาย “การแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเพื่อความมั่นคงทางสุขภาพ” เพื่อให้สอดรับกับนโยบาย “Health for Wealth” ของกระทรวงสาธารณสุขปี 2566 โดยระบุว่า โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้พัฒนางานด้านการแพทย์แผนไทยมาอย่างยาวนาน พร้อมยกระดับงานด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โดยการบูรณาการร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อให้ผู้รับบริการได้ประโยชน์สูงสุด โดยโรงพยาบาลเองนั้นนอกเหนือจากจะมีศูนย์ความเป็นด้านการแพทย์แผนไทยแล้ว เรายังมีศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านการแพทย์แผนปัจจุบันอีก 4 ศูนย์คือ ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด ศูนย์หลอดเลือดสมอง ศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน และศูนย์ผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ ซึ่งพร้อมที่จะสนับสนุนให้งานบริการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรของโรงพยาบาลได้เติบโตบนฐานทางวิชาการ ในส่วนของงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เราได้นำนโยบายของกระทรวงมาปฏิบัติในทั้ง 3 ประเด็น กล่าวคือ
การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือเวลเนส ผ่านกิจกรรมและบริการของ อภัยภูเบศร เดย์ สปา และ ภูมิภูเบศร ศูนย์การเรียนรู้ฯ การยกระดับด้านการผลิตยาและผลิตภัณฑ์สมุนไพรสู่สากล โดย โรงงานผลิตยาสมุนไพร และ มูลนิธิ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่มีการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์กับเกษตรกรในประเทศ มีผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกต่างประเทศ และ การพัฒนาด้านการอบรมความรู้เพื่อสร้างอาชีพกับคนในชุมชน และ การพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยสมุนไพร/บริการ
พญ.โศรยา กล่าวว่า การให้บริการของการแพทย์แผนไทย จะมุ่งเน้นการดูแลแบบองค์รวม โดยใช้หลักของ 3 สมดุลสุขภาพ คือ เจ้าเรือน โครงสร้าง และ ระบบขับถ่าย โดยงานการแพทย์แผนไทยของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้การดูแลในเชิงป้องกัน รักษา ฟื้นฟู และ ส่งเสริมสุขภาพ อย่างครอบคลุม เป็นองค์รวม ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการใช้สมุนไพร นอกจากนี้ยังให้บริการส่งเสริมสุขภาพ
ที่มีการพัฒนาเพื่อรองรับกับสถานการณ์สุขภาพปัจจุบัน รวมถึง เทรนด์สุขภาพ คือ การดูแลหลังติดเชื้อโควิด ด้วยการใช้หัตถการทางการแพทย์แผนไทย โปรแกรมดีปสลีป ปรับสมดุลการนอนให้มีคุณภาพด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อการยืนยันประสิทธิภาพของการใช้องค์ความรู้และยาสมุนไพร โปรแกรมการดูแลมารดาหลังคลอด เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพมารดาให้กลับมาเป็นปกติ พร้อมดูแลบุตร และยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับสถาบันต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันทางโรงพยาบาลก็ได้เริ่มถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อให้นำไปใช้สร้างอัตลักษณ์ของไทยเวลเนส ในขณะเดียวกันที่เน้นคือการวิจัยและเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้การบริการ ผลักดันให้เกิดการยอมรับในตลาดโลก ซึ่งปกติก็บริการเวลเนสของประเทศไทยก็ได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวติดหนึ่งใน 5 ของโลกอยู่แล้ว แต่การมีวิจัยจะทำให้เกิดการใช้บริการมากขึ้น ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายรายหัวของนักท่องเที่ยวก็จะมากขึ้นด้วย ในขณะเดียวกันการทำเวลเนสนั้นไม่ใช่เพื่อหารายได้อย่างเดียว แต่ต้องทำให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพ ไม่เจ็บป่วย การเผยแพร่ความรู้เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในระดับครอบครัวและชุมชนก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทางโรงพยาบาลจะดำเนินการควบคู่กันไป
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นโรงพยาบาลต้นแบบ ในการอนุรักษ์สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้คงอยู่ และพัฒนาจนได้รับการยอมรับในระดับสากล มีชื่อเสียงไปทั่วโลก นอกจากนี้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ยังเป็นหนึ่งในสถานที่ดูงาน และท่องเที่ยวของจังหวัดที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ที่จะทะลักเข้ามาในประเทศไทยในเดือนมกราคา จึงอยากให้โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นแกนหลัก ซึ่งตนได้หารือทางผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีแล้ว และขอให้ทาง นายแพทย์สุรินทร์ สืบซึ้ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี หารือกับสภาหอการค้าจังหวัดว่าจะมีการเตรียมการรับมืออย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะ ได้ตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2566 ซึ่งมีการรณรงค์ภายใต้แนวคิด “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัยไร้อุบัติเหตุ” ซึ่งทางโรงพยาบาลฯ ได้เตรียมแผนรองรับอุบัติเหตุหมู่ โดยได้ประชุมซักซ้อมทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ภายในโรงพยาบาล ให้เตรียมพร้อม 24 ชั่วโมง
ข่าว อลงกรณ์ คุณกิตติมานนท์ ผู้สื่อข่าว ประจำ จ.ปราจีนบุรี