นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า กระทรวงดีอีเอสเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาข่าวปลอมอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการทำงานบูรณาการร่วมกันกับทุกหน่วยงานราชการ ในการรับแจ้งเบาะแสจากประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ในช่องทางเพจเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ ทวิตเตอร์ และ Line Official และติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์ (Social Listening) เกี่ยวกับข่าวปลอม โดยในรอบปี 2565 ภาพรวมผลการดำเนินการของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (วันที่ 1 ม.ค.2565 – 31 ธ.ค. 2565) จากการรับแจ้งเบาะแสและติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม พบว่ามีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรอง517,965,417 ข้อความ หลังจากคัดกรองพบข้อความข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 14,859 เรื่องแบ่งเป็น โดยหมวดหมู่นโยบายรัฐ 3,772 เรื่อง ตามมาด้วย หมวดหมู่สุขภาพ 2,344 เรื่อง หมวดหมู่เศรษฐกิจ 634 เรื่อง และหมวดหมู่ภัยพิบัติ 450 เรื่อง
"ดีอีเอส" เปิดสถิติ "เฟคนิวส์" ปี 2565 พบข่าวปลอมนโยบายภาครัฐครองแชมป์สูงสุด รองลงมาด้านสุขภาพและเตือนภัยพิบัติ
ข่าวที่น่าสนใจ
โดยข่าวปลอม และข่าวบิดเบือนที่มีการแชร์วนซ้ำบ่อยที่สุดในรวม 10 ลำดับในรอบปี 2565 ได้แก่
อันดับ 1 เรื่อง เคี้ยวเม็ดมะละกอสุกแล้วกลืนโดยไม่ต้องกินน้ำตาม วันละ 3 เม็ด รักษามะเร็งระยะสุดท้าย เห็นผลใน 1 เดือน
อันดับ 2 เรื่องปรากฏการณ์ APHELION (อะฟี’ลิอัน) โลกจะอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ ระยะทาง 5 นาทีแสง หรือ 90,000,000 กิโลเมตร
อันดับ 3 เรื่องอย. แพ้คดี หลังไฟเซอร์ถูกบังคับให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีน
อันดับ 4 เรื่องกสทช. โทรแจ้งประชาชนขอระงับสัญญาณเบอร์โทรศัพท์ และจะติดแบล็คลิสต์ไม่สามารถเปิดเบอร์ใหม่ได้
อันดับ 5 เรื่องหากสแกน QR Code จากใบนัดนำจ่ายสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ สามารถถูกดูดเงินในบัญชีได้
อันดับ 6 เรื่องวันที่ 22 – 28 ส.ค.65 จะเกิดพายุ 9 ลูกพร้อมกัน และล้อมประเทศไทยจนทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ
อันดับ 7 เรื่องยาพาราเซตามอลมีส่วนผสมของไวรัสแมคชูโป
อันดับ 8 เรื่องสธ. เตือนไข้หวัดใหญ่ครั้งนี้มีความร้ายแรงมาก ให้งดการเดินทาง และกิจกรรมทุกประเภท
อันดับ 9 เรื่องควรหยุดฉีดวัคซีนโควิด 19 เพราะจะทำให้เสียชีวิตได้
อันดับ 10 เรื่องผลิตภัณฑ์ N DRO CARE MOUTH SPRAY ต้านไวรัส แบคทีเรียและเชื้อโรค ปกป้องไข้หวัด ลดการอักเสบ และดักจับเชื้อไวรัสก่อนลงปอด
ดังนั้น ขอเชิญชวนประชาชนในการทำงานร่วมกับรัฐบาล และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาข่าวปลอม เมื่อได้รับข่าวสารข้อมูลผ่านโซเชียล ควรตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกแชร์ โดยขอความร่วมมือไม่ส่งหรือแชร์ข่าวปลอมต่างๆต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เพราะจะสร้างความตื่นตระหนก และความเสียหายต่อส่วนรวม และสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอมได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ LINE @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87
ข่าวที่เกี่ยวข้อง