ผิดพ.ร.บ.จัดซื้อฯหรือไม่ รฟท.เจาะจงจ้างบริษัททำป้ายสถานีบางซื่อ

ผิดพ.ร.บ.จัดซื้อฯหรือไม่ รฟท.เจาะจงจ้างบริษัททำป้ายสถานีบางซื่อ

สืบเนื่องจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ประเด็นการว่าจ้างปรับเปลี่ยน พร้อมติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย มูลค่าโครงการสูงถึง 33,169,726.39 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ต่อมา TOP NEWS ได้สอบถามความเห็นจาก นายสาวิทย์ แก้วหวาน ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) และ ที่ปรึกษา สมาพันธ์แรงงาน รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ระบุว่า ถ้ามองในสายตาประชาชนทั่วไป ทุกคนคงเห็นตรงกันป้ายดังกล่าวแพงเกินกว่าควรจะเป็น แม้จะอ้างว่าเป็นป้ายขนาดใหญ่ก็ตาม อีกทั้งมีการตั้งคำถามว่า มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ถึงต้องรีบเร่ง เร่งรัดจนทำให้เกิดครหาเรื่องกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

ขณะที่ นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า การประมูลจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ ราคาค่อนข้างสูงเกินกว่าความเป็นจริง ซึ่งตามหลักการติดตั้งป้ายตัวอักษรราคาไม่น่าจะสูงขนาดนี้ เต็มที่อาจจะอยู่แค่หลักแสนหรือหลักล้านต้นๆ จึงตัดสินใจยื่นหนังสือถึง นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ขอให้ตรวจสอบกระบวนการว่าจ้าง โดยวิธีเฉพาะเจาะจง และชี้แจงเหตุใดถึงมีการให้บริษัทเอกชนกู้สัญญาเสนอราคาสูงขนาดนี้ พร้อมตั้งคำถามว่า อาจเป็นการล็อคสเปคเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ เพราะไม่ใช่เหตุเร่งด่วนต้องรีบเปลี่ยน

ส่วนทางด้านการรถไฟฯ เลือกออกเอกสารชี้แจง ระบุใจความตอนหนึ่งว่า การดำเนินการดังกล่าว ได้ทำตามระเบียบขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้งาน ความคุ้มค่าของงบประมาณ และความถูกต้องตามหลักวิศวกรรมเป็นสำคัญ

พร้อมระบุเหตุผลที่ต้องเปิดให้มีการจัดซื้อจัดจ้าง โดยวิธีเฉพาะเจาะจง เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องมีการรีบดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วที่สุด ขณะที่การรื้อถอน และการติดตั้งป้าย ยังเป็นงานยาก และต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

โดยผู้รับจ้างต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบ การดำเนินงานให้แล้วเสร็จครบถ้วนสมบูรณ์ตามระยะเวลาที่สัญญาจ้างกำหนดเป็นจำนวน 150 วัน (5 เดือน) และรับประกันความชำรุดบกพร่อง ซึ่งรวมงานดูแลรักษาระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายด้วย เป็นเวลา 365 วัน (12 เดือน)

และเมื่อเริ่มงานผู้รับจ้างต้องเสนอแผนการดำเนินงานเพื่อขออนุมัติภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มงาน โดยในแผนงานต้องระบุงานติดตั้งเฉพาะงานโครงป้ายตัวอักษร สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทั้ง 2 ด้านของอาคารสถานี พร้อมติดตั้งตราสัญลักษณ์การรถไฟฯให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน และต้องดำเนินงานในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จครบถ้วนสมบูรณ์ตามสัญญาภายในระยะเวลาที่สัญญากำหนดจนถึงครบกำหนดสิ้นสุดสัญญา 150 วัน

โดยเนื้อหาเต็มๆ ของคำชี้แจง ระบุว่า การรถไฟฯ ชี้แจง “โครงการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย” ได้ดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้งาน ความคุ้มค่าของงบประมาณ และความถูกต้องตามหลักวิศวกรรมเป็นสำคัญ

ตามที่มีสื่อสังคมออนไลน์ได้นำเสนอข่าวการรถไฟแห่งประเทศไทยมีการลงนามจ้างบริษัทเอกชนรายหนึ่ง โดยใช้งบประมาณ 33 ล้านบาท เพื่อเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย ขอชี้แจงว่า โครงการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างเคร่งครัด ทั้งการกำหนดราคากลาง กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งคำนึงถึงประโยชน์ในการใช้งาน ความคุ้มค่าของงบประมาณ ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อโครงสร้างภายในสถานี ประชาชนผู้ใช้บริการ และเหมาะสมกับการเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางที่สำคัญของภูมิภาคเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ในส่วนการกำหนดราคากลาง การรถไฟฯ ได้มีการดำเนินการ ผ่านการตั้ง คณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตของงานและราคากลาง ตามคำสั่งเฉพาะที่ ก.812/2565 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2565 โดยมีการพิจารณารายละเอียดของการประมาณการที่เกี่ยวข้องกับชนิด จำนวน ปริมาณ รายการพัสดุ วัสดุต่างๆ ค่าแรง ที่ต้องนำมาใช้ในการคำนวณที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้าง ตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นไปตามราคากลางและระเบียบของกรมบัญชีกลาง คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) เป็นเงิน 33,169,726.39 บาท ราคาดังกล่าว ได้รวมยอดเงินเผื่อจ่าย (Provisional Sum) เป็นเงิน 1,627,662.60 บาท ซึ่งยอดเงินเผื่อจ่าย (Provisional Sum) รายการนี้กำหนดไว้ว่า จะจ่ายให้ก็ต่อเมื่อผู้ว่าจ้างสั่งให้ดำเนินการ สำหรับงานติดตั้งและรื้อถอนวัสดุปิดแทนผนังกระจก เช่น แผ่นผนังอะครีลิกใส เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ลมหรือฝนสาดเข้าตัวอาคารสถานี ระหว่างที่รอการผลิตและติดตั้งผนังกระจกใหม่ โดยในกรณีที่ผนังกระจกใหม่สามารถผลิตและติดตั้งให้แล้วเสร็จได้ทันภายใน 90 วัน ยอดเงินเผื่อจ่าย (Provisional Sum) รายการนี้ผู้ว่าจ้างก็จะไม่ต้องสั่งให้ผู้รับจ้างดำเนินการและผู้รับจ้างก็จะไม่สามารถขอเบิกจ่ายเงินค่าจ้างได้ การรถไฟฯก็จะสามารถประหยัดเงินค่าจ้างลงได้ส่วนหนึ่งด้วย

สำหรับเหตุผลที่การรถไฟฯ ต้องมีการเปิดให้มีการจัดซื้อจัดจ้าง โดยวิธีเฉพาะเจาะจง เนื่องจากโครงการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นไปตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง และมีความเร่งด่วนจึงต้องมีการรีบดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วที่สุด

 

ขณะที่กระบวนการกำหนดขอบเขตงาน ทางคณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตของงานและราคากลางของโครงการฯ ได้มีการกำหนดขอบเขตของงานที่หลากหลาย ไม่ได้มีเพียงแค่การเปลี่ยนป้ายชื่อเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจัดทำระบบไฟ งานรื้อถอน ที่มีความละเอียดอ่อนและต้องปรับปรุงอย่างระมัดระวัง รวมถึงมีการรับประกันความชำรุดบกพร่อง เพื่อให้โครงการเกิดความรอบคอบ เสร็จสิ้นเรียบร้อยตามกำหนด ซึ่งมีขอบเขตงานทั้งหมด ประกอบด้วย

งานส่วนที่ 1 งานโครงสร้างวิศวกรรม งานรื้อถอนป้ายสถานีกลางบางซื่อเดิม ทั้งในส่วนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ งานรื้อผนังกระจกและโครงกระจกอลูมิเนียมเดิม งานรื้อระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายเดิม งานผลิตและติดตั้งโครงเหล็กยึดตัวอักษรใหม่ต่อเติมตามความยาวป้ายที่เพิ่มขึ้น

งานส่วนที่ 2 งานผลิตป้ายใหม่ งานติดตั้งแผ่นกระจกและโครงกระจกอลูมิเนียมใหม่ และงานประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ งานสถาปัตยกรรม งานออกแบบรายละเอียดพร้อมรายการคำนวณ และงานติดตั้งป้ายชื่อใหม่ และงานติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายชื่อใหม่ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยสอดคล้องตามข้อกำหนดของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 1

งานส่วนที่ 3 งานในช่วงรับประกันความชำรุดบกพร่อง ซึ่งรวมงานดูแลรักษาระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายด้วย เป็นเวลา 365 วัน (12 เดือน)

 

ข่าวที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ ในการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ การรถไฟฯ ยังได้กำหนดจุดติดตั้งป้ายชื่อสถานีจำนวน 2 ฝั่ง ทั้งบริเวณโดมด้านหน้าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก โดยมีตัวอักษรตัวสระภาษาไทยฝั่งละ 24 ตัวอักษร อักษรภาษาอังกฤษฝั่งละ 31 ตัวอักษร และ 1 ตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ ซึ่งหากรวมทั้ง 2 ฝั่งจะมีการติดตั้งอักษรภาษาไทยรวมถึง 48 ตัวอักษร อักษรภาษาอังกฤษรวม 62 ตัวอักษร และ 2 ตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ

ส่วนรายละเอียดของอักษรป้ายชื่อที่ขอพระราชทาน ในส่วนที่เป็นชื่ออักษรภาษาไทย มีความสูง 3 เมตร กว้าง 2.6 เมตร หนา 40 เซนติเมตร มีความยาวของป้ายใหม่รวม 60 เมตร ตามจำนวนอักษรของชื่อพระราชทาน ในส่วนที่เป็นอักษรภาษาอังกฤษ มีความสูง 2.1 เมตร กว้าง 2.2 เมตร หนา 40 เซนติเมตร ผลิตตัวอักษรด้วยวัสดุอะครีลิกสีขาวนม ยกขอบ และซ่อนไฟแสงสว่างไว้ด้านหลังป้ายด้วย การรถไฟฯ ได้ขอเพิ่มตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ ที่มีความสูง 7 เมตร ซึ่งได้รับอนุญาตด้วยเช่นกัน

ที่สำคัญป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถือเป็นป้ายขนาดใหญ่ มีความยาวชื่อ และจำนวนตัวอักษรเพิ่มขึ้นจากเดิม อีกทั้งป้ายอักษรติดตั้งโดยมีโครงเหล็กยึดตัวอักษรไว้ที่ด้านหลัง โครงเหล็กยึดไว้เสารับน้ำหนักในตัวอาคาร และเจาะทะลุผนังกระจกยึดตัวอักษรแต่ละตัว แต่ผนังกระจกเป็นกระจกหนากว่า 10 มิลลิเมตร ที่ไม่สามารถเจาะรูใหม่ได้ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนผนังกระจกที่ติดตั้งไว้เรียบร้อยแล้วด้วยผนังกระจกใหม่ที่ต้องสั่งหล่อเป็นพิเศษ โดยผนังกระจกต้องหล่อแผ่นกระจกเว้นรูเจาะให้พอดีจุดยึดโครงเหล็กกับตัวอักษรแต่ละตัวไว้ล่วงหน้า

“โดยเฉพาะการรื้อถอนป้ายสถานีกลางบางซื่อ (เดิม) รวมถึงงานรื้อผนังกระจก (เดิม) และการติดตั้งป้ายสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (ใหม่) รวมถึงงานติดตั้งผนังกระจก (ใหม่) ดำเนินการด้วย การติดตั้งกระเช้าไฟฟ้า (แขวนสลิง) ยาว 6 เมตร รวมการย้ายจุดทำงาน จำนวน 4 กระเช้า (ชุด) ระดับความสูงของป้ายสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 28 เมตร ความสูงเทียบเท่าตึก 9 ชั้น น้ำหนักที่ต้องยกขึ้นไปติดตั้งกว่า 7 ตัน เป็นงานที่ยากและต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ”

ขณะเดียวกัน ผู้รับจ้างต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบ การดำเนินงานให้แล้วเสร็จครบถ้วนสมบูรณ์ตามระยะเวลาที่สัญญาจ้างกำหนดเป็นจำนวน 150 วัน (5 เดือน) และรับประกันความชำรุดบกพร่อง ซึ่งรวมงานดูแลรักษาระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายด้วย เป็นเวลา 365 วัน (12 เดือน) โดยเมื่อเริ่มงานผู้รับจ้างต้องเสนอแผนการดำเนินงานเพื่อขออนุมัติภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มงาน โดยในแผนงานต้องระบุงานติดตั้งเฉพาะงานโครงป้ายตัวอักษร สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทั้ง 2 ด้านของอาคารสถานี พร้อมติดตั้งตราสัญลักษณ์การรถไฟฯให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน และต้องดำเนินงานในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จครบถ้วนสมบูรณ์ตามสัญญาภายในระยะเวลาที่สัญญากำหนดจนถึงครบกำหนดสิ้นสุดสัญญา 150 วัน

ท้ายนี้ การรถไฟฯ จึงขอให้ความมั่นใจว่า โครงการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ ได้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชนเป็นสำคัญ อีกทั้งยังถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทุกประการ พร้อมกับได้คำนึงถึงความสวยงาม ความปลอดภัย เหมาะสมต่อการเป็นศูนย์กลางระบบรางที่ดีที่สุดในประเทศ และภูมิภาคต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นว่าด้วยเหตุผลความจำเป็นต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง โดยวิธีการเฉพาะเจาะจงของ ร.ฟ.ท. TOP NEWS ได้ตรวจค้นรายละเอียดเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 พบว่ามีจุดสำคัญที่ทผู้บริหาร ร.ฟ.ท. ต้องชี้แจง และ หน่วยงานเกี่ยวข้อง ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด เพื่อให้สิ้นข้อสงสัย นอกเหนือจากเรื่องตัวเลขค่าใช้จ่ายกว่า 33 ล้านบาท ว่า กระบวนการทั้งหมดถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

เริ่มจากขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ระบุถึงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างไว้อย่างชัดเจน ว่าต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และควรมีการวางแผนล่วงหน้า เพื่อความเป็นธรรมในการแข่งขัน อาทิ

มาตรา 8 การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของหน่วยงานของรัฐต้องก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานของรัฐ และต้องสอดคล้องกับหลักการ ดังต่อไปนี้
1. คุ้มค่า
โดยพัสดุที่จัดซื้อจัดจ้างต้องมีคุณภาพหรือคุณลักษณะที่ตอบสนองวัตถุประสงค์ ในการใช้งานของหน่วยงานของรัฐ มีราคาที่เหมาะสม และมีแผนการบริหารพัสดุที่เหมาะสมและชัดเจน
2. โปร่งใส
โดยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุต้องกระทําโดยเปิดเผย เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน มีระยะเวลาที่เหมาะสม และเพียงพอต่อการยื่นข้อเสนอ มีหลักฐานการดําเนินงานชัดเจน และมีการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุในทุกขั้นตอน
3. มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
โดยต้องมีการวางแผนการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุล่วงหน้าเพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีกําหนดเวลาที่เหมาะสม โดยมีการประเมินและเปิดเผยผลสัมฤทธิ์ของการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ
4. ตรวจสอบได้
โดยมีการเก็บข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุอย่างเป็นระบบเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ

ไม่เท่านั้นการจัดซื้อจัดจ้าง ตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ.2560 ยังกำหนดรูปแบบไว้ 3 วิธีการ

 

มาตรา 55 การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุอาจกระทําได้โดยวิธี ดังต่อไปนี้

1. วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ได้แก่ การที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวนผู้ประกอบการทั่วไปที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกําหนดให้เข้ายื่นข้อเสนอ

2. วิธีคัดเลือก ได้แก่ การที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวนเฉพาะผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกําหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสามรายให้เข้ายื่นข้อเสนอ เว้นแต่ในงานนั้นมีผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กําหนดน้อยกว่าสามราย

3. วิธีเฉพาะเจาะจง ได้แก่ การที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกําหนดรายใดรายหนึ่งให้เข้ายื่นข้อเสนอ หรือให้เข้ามาเจรจาต่อรองราคา รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุกับผู้ประกอบการโดยตรงในวงเงินเล็กน้อยตามที่กําหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๙๖ วรรคสอง

ประเด็นสำคัญ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560 ยังกำหนดวิธีการคัดเลือกจะต้องลำดับขั้นตอนอย่างไร และการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง จะต้องประกอบด้วยเงื่อนไขอะไรบ้าง

 

 

มาตรา 56 การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ให้หน่วยงานของรัฐเลือกใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปก่อน เว้นแต่

1. กรณีดังต่อไปนี้ ให้ใช้วิธีคัดเลือก

(ก) ใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปแล้ว แต่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ หรือข้อเสนอนั้นไม่ได้รับการคัดเลือก
(ข) พัสดุที่ต้องการจัดซื้อจัดจ้างมีคุณลักษณะเฉพาะเป็นพิเศษหรือซับซ้อนหรือต้องผลิตจําหน่าย ก่อสร้าง หรือให้บริการโดยผู้ประกอบการที่มีฝีมือโดยเฉพาะ หรือมีความชํานาญเป็นพิเศษ หรือมีทักษะสูง และผู้ประกอบการนั้นมีจํานวนจํากัด
(ค) มีความจําเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้พัสดุนั้นอันเนื่องมาจากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดหมายได้ ซึ่งหากใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปจะทําให้ไม่ทันต่อความต้องการใช้พัสดุ
(ง) เป็นพัสดุที่โดยลักษณะของการใช้งาน หรือมีข้อจํากัดทางเทคนิคที่จําเป็นต้องระบุยี่ห้อ เป็นการเฉพาะ

 

(จ) เป็นพัสดุที่จําเป็นต้องซื้อโดยตรงจากต่างประเทศ หรือดําเนินการโดยผ่านองค์การระหว่างประเทศ
(ฉ) เป็นพัสดุที่ใช้ในราชการลับ หรือเป็นงานที่ต้องปกปิดเป็นความลับของหน่วยงานของรัฐ หรือที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ
(ช) เป็นงานจ้างซ่อมพัสดุที่จําเป็นต้องถอดตรวจ ให้ทราบความชํารุดเสียหายเสียก่อน จึงจะประมาณค่าซ่อมได้ เช่น งานจ้างซ่อมเครื่องจักร เครื่องมือกล เครื่องยนต์ เครื่องไฟฟ้าหรือเครื่องอิเล็กทรอนิกส์
(ซ) กรณีอื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง

 

 

2. กรณีดังต่อไปนี้ให้ใช้วิธีเฉพาะเจาะจง

(ก) ใช้ทั้งวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปและวิธีคัดเลือก หรือใช้วิธีคัดเลือกแล้วแต่ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอ หรือข้อเสนอนั้นไม่ได้รับการคัดเลือก
(ข) การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีการผลิต จําหน่าย ก่อสร้าง หรือให้บริการทั่วไป และมีวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้างครั้งหนึ่งไม่เกินวงเงินตามที่กําหนดในกฎกระทรวง
(ค) การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีผู้ประกอบการซึ่งมีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียว หรือการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากผู้ประกอบการซึ่งเป็นตัวแทนจําหน่ายหรือตัวแทนผู้ให้บริการโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงรายเดียวในประเทศไทยและไม่มีพัสดุอื่นที่จะใช้ทดแทนได้

 

(ง) มีความจําเป็นต้องใช้พัสดุนั้นโดยฉุกเฉิน เนื่องจากเกิดอุบัติภัยหรือภัยธรรมชาติ หรือเกิดโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ และการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป หรือวิธีคัดเลือกอาจก่อให้เกิดความล่าช้าและอาจทําให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง
(จ) พัสดุที่จะทําการจัดซื้อจัดจ้างเป็นพัสดุที่เกี่ยวพันกับพัสดุที่ได้ทําการจัดซื้อจัดจ้างไว้ก่อนแล้ว และมีความจําเป็นต้องทําการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มเติมเพื่อความสมบูรณ์หรือต่อเนื่องในการใช้พัสดุนั้น โดยมูลค่าของพัสดุที่ทําการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มเติมจะต้องไม่สูงกว่าพัสดุที่ได้ทําการจัดซื้อจัดจ้างไว้ก่อนแล้ว

 

 

(ฉ) เป็นพัสดุที่จะขายทอดตลาดโดยหน่วยงานของรัฐ องค์การระหว่างประเทศ หรือหน่วยงานของต่างประเทศ
(ช) เป็นพัสดุที่เป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างซึ่งจําเป็นต้องซื้อเฉพาะแห่ง
(ซ) กรณีอื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง

 

 

รัฐมนตรีอาจออกกฎกระทรวงตาม (๑) (ซ) หรือ (๒) (ซ) ให้เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนตามมาตรา ๖๕ (๔) ก็ได้ หากรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงตาม (๒) (ซ) เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนตามมาตรา ๖๕ (๔) แล้ว เมื่อหน่วยงานของรัฐจะทําการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุนั้นให้ใช้วิธีเฉพาะเจาะจงตาม (๒) (ซ) ก่อน ในกรณีหน่วยงานของรัฐในต่างประเทศหรือมีกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติในต่างประเทศจะทําการจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้วิธีคัดเลือกหรือวิธีเฉพาะเจาะจง โดยไม่ใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปก่อนก็ได้รัฐมนตรีอาจออกระเบียบเพื่อกําหนดรายละเอียดอื่นของการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุตามวรรคหนึ่งเพิ่มเติมได้ตามความจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการดําเนินการ

 

 

และจากประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น มีรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันพรุ่งนี้ ( 5 ม.ค. 2566 ) น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี จะรวบรวมข้อมูล เข้ายื่นคำร้องต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อขอให้ตรวจสอบถึงความเร่งรีบ ไม่ชอบมาพากล การจัดจ้างดังกล่าว ว่า เป็นการดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บุคคล หรือ บริษัทเอกชน หรือไม่

 

 

ช่นเดียวกับ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย แจ้งว่าจะนำกรณีนี้เข้าร้องเรียนต่อ สตง. ให้ตรวจสอบในประเด็นที่ รฟม.และสื่อยังไม่ได้นำเสนอ ในวันพรุ่งนี้ ( 5 ม.ค. 2566 ) เช่นกัน

โดยเบื้องต้น นายศรีสุวรรณ ระบุว่า กรณีดังกล่าวแม้ รฟท.จะออกมาชี้แจงแล้ว แต่ยังฟังไม่ขึ้น ยังไม่เคลียร์ในหลายประเด็น โดยเฉพาะบทบาทของคณะกรรมการกำหนดราคากลาง ซึ่งมีข้อพิรุธหลายประการ และการกระทำทั้งปวงอาจไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตาม พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ประกอบ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล พ.ศ. 2542

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

สุดทน "พ่อพิการ" ร้อง "กัน จอมพลัง" หลังถูกลูกทรพี ใช้จอบจามหัว-ทำร้ายร่างกาย จนนอน รพ.นับเดือน
สลด กระบะชนจยย.พลิกคว่ำตก "ดอยโป่งแยง" เชียงใหม่ เจ็บตายรวม 13 ราย
“สมศักดิ์” ยกนวดไทยเป็นมรดกชาติ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจสุขภาพ เล็งพาหมอนวดโกอินเตอร์ โชว์ฝีมืองาน เวิลด์เอ็กซ์โปโอซาก้า ญี่ปุ่น
ห่ามาแล้ว! “แม่สอด” พบติดเชื้ออหิวาต์ เผยญาติฝั่งพม่าซื้อข้าวมากินด้วยกัน
ผกก.สภ.รัตนาธิเบศร์ สั่งตั้งคกก.สอบ "ตร.จราจร" รีดเงินแทนเขียนใบสั่ง
สตม. บุกทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กลางคอนโดหรูห้วยขวาง รวบ 6 คนจีน อึ้งเจอซิมการ์ด 2 แสนซิม
ครูบาอริยชาติ เชิญชวนพุทธศาสนิกชน ฉลองสมโภช 18 ปีวัดแสงแก้วโพธิญาณ และทำบุญฉลองอายุวัฒนมงคล 44 ปี
กกต.สั่งดำเนินคดีอาญา "ชวาล" ส.ส.พรรคประชาชน ยื่นบัญชีใช้จ่ายเท็จ โทษคุก-ตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี
จีนเตือนสหรัฐกำลังเล่นกับไฟหลังส่งอาวุธให้ไต้หวัน
อิลอน มัสก์วิจารณ์แรงผู้นำเยอรมันเหตุโจมตีตลาดคริสต์มาส

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น