นับเนื่องเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ อย่าง “กองสลากพลัส” แสดงให้เห็นว่ามีกำหนดราคาขายเกินกว่ากฎหมายควบคุม โดยการอ้างว่าเป็นราคาสลากฯ บวกค่าบริการ 20-25 บาทต่อใบ และต่อมายังแสดงตัวว่ามีปริมาณการค้าสลากฯผ่านออนไลน์ต่องวดสูงถึง 14 ล้านใบ จากการรวบรวมซื้อผ่านช่องทางต่าง ๆ
ขณะที่สำนักงานสลากฯ ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรง แสดงบทบาทเพียงการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2565 ว่า ” สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำหน่ายสลากดิจิทัล ในราคาไม่เกิน 80 บาท ผ่านแอปฯ เป๋าตังเพียงช่องทางเดียว เท่านั้น สำหรับการจำหน่ายสลากเกินราคา และการซื้อสลากผ่านแพลตฟอร์มเอกชนในราคาเกิน 80 บาท หรือมีการคิดค่าบริการเพิ่มเติมกว่า 80 บาท ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและสนับสนุนให้มีการขายสลากเกินราคาอีกด้วย”
ท่ามกลางข้อคำถามมากมาย เกี่ยวกับการขับเคลื่อนระบบตรวจสอบของภาครัฐ ทำไมถึงล่าช้าผิดปกติ โดยเฉพาะการที่สำนักงานสลากฯ ระบุชัดเจนว่า วิธีการขายสลากฯผ่านระบบออนไลน์ในการบวกค่าบริการ หรือ วิธีการอื่นใดจนทำให้ราคาขายปลีกเกินกำหนดควบคุม 80 บาท เป็นการกระทำผิดกฎหมาย ไม่นับรวม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในการพิจารณาตรวจสอบเรื่องที่มาเงินทุน “กองสลากพลัส” แต่ละงวดกว่าพันล้าน ถูกนำมากว้านซื้อสลากฯมารวมชุดขายเกินราคา
หรือ แม้แต่ กรมสรรพากร สำหรับกระบวนการตรวจสอบการชำระภาษีเงินได้ “กองสลากพลัส” ตามข้อปรากฎจาการคำกล่าวอ้างของ นายพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ หรือ นอท กองสลากพลัส ว่า ปี 2565 มียอดขายรวม 18,000 ล้านบาท แยกเป็นผลกำไร ประมาณ 400 ล้านบาท ก้าวกระโดดจากปี 2564 ที่มียอดขายรวม 1,000 ล้านบาท และ ผลกำไรเพียง 9 ล้านบาทเท่านั้น
จนมีข้อสังเกตุว่าตัวเลขแสดงรายได้รวม และยอดกำไรสุทธิของ “กองสลากพลัส” เป็นไปอย่างถูกต้อง หรือ มีการแสดงตัวเลขเพื่อหลบเลี้ยงภาษีหรือไม่ เนื่องจากตัวเลขดังกล่าว เท่ากับว่าปี 2565 “กองสลากพลัส” อ้างตัวเลขรายจ่ายสูงถึง 17,600 ล้านบาท หรือ 98.89% ของรายได้ ขณะที่อัตราการกำไรสุทธิ Net Profit Margin(NPM) เหลือเพีบง 2.22% เท่านั้น จากระบบธุรกิจทั่วไป ควรมียอดกำไรขั้นต่ำ 20 %
จากสารพัดข้อคำถามเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ผ่านการทำหน้าที่สื่อมวลชนอย่างเข้มข้น ในการเดินหน้าค้นหาความจริงเกี่ยวกับขบวนการค้าสลากฯเกินราคา โดย “TOP NEWS” ทำให้ เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีคำสั่งตรงให้ สำนักสลากฯ และหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. , กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI , กรมสรรพากร , เจ้าหน้าที่ตำรวจ คดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ร่วมกันตรวจสอบเส้นทางการเงินของ “กองสลากพลัส” และ ผู้ค้าสลากฯ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ว่ามีการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ อย่างไร
อย่างไรก็ตามแม้จะยังไม่ครบ 15 วัน ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฎว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีดีเอสไอ ได้แจ้งความคืบหน้าปฏิบัติการ ว่า หลังจาก พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะกำกับดูแลศูนย์คดียาเสพติด มอบหมายให้นายพงษธร อินอำนวย ผู้อำนวยการศูนย์คดียาเสพติด ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเส้นทางการเงินของกลุ่มผู้กระทำความผิดเกี่ยวยาเสพติด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ พนันออนไลน์ และอื่นๆ โดยมุ่งเน้นไปยังบุคคลที่ทำหน้าที่ในการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินหรือฟอกเงินให้กลุ่มอาชญากรรม ซึ่งศูนย์คดียาเสพติด ได้ดำเนินการเป็นคดีพิเศษ ที่ 288/2565
ปรากฎข้อมูลจากการสอบสวน พบกลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่ในการโอน รับโอน หรือแปรสภาพทรัพย์สินให้กับอาชญากรรมผิดกฎหมายหลายประเภท ด้วยการจัดหาบุคคลทั่วไปเปิดบัญชีธนาคารให้ (บัญชีม้า) จากนั้น จะทำการควบคุมบัญชีธนาคารดังกล่าวด้วยการเบิกถอนเงินสด แล้วนำไปส่งมอบให้กับกลุ่มอาชญากรที่ใช้บริการ โดยเรียกเก็บค่าบริการเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดเงินที่เบิกถอนได้ และมีบริการหลังการขายด้วยการติดตามทวงเงินจากกลุ่มลูกค้า
นอกจากนี้ ยังพบพฤติการณ์ทำร้ายร่างกาย บังคับทรมาน บุคคลที่แอบปิดบัญชีหรือเบิกถอนเงินจากบัญชีม้า และถ่ายคลิปส่งให้ลูกค้าที่ใช้บริการดูอยู่เป็นประจำ และเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ศูนย์คดียาเสพติด กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้จับกุมผู้ต้องหาซึ่งเป็นหัวหน้าขบวนการรายสำคัญได้ จำนวน 1 ราย และออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการไว้อีก 5 ราย
ไม่เท่านั้นจากการสอบสวนขยายผล ยังพบด้วยว่า ที่ผ่านมากลุ่มขบวนการดังกล่าว ได้เบิกถอนเงินสดและนำไปเข้าบัญชีให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายราย โดยหนึ่งในผู้รับเงินจากกลุ่มขบวนการนี้ คือ ผู้บริหารกิจการสลากกินแบ่งออนไลน์ “กองสลากพลัส” โดยปรากฎหลักฐานการรับเงินจากกลุ่มขบวนการนี้จำนวนหลายสิบล้านบาท ซึ่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษอยู่ระหว่างออกหมายเรียกให้เข้ามาชี้แจงเหตุในการรับเงินดังกล่าว
พร้อมย้ำว่า การดำเนินการเรื่องดังกล่าว สอดคล้องกับข้อสั่งการของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของเอกชน และตรวจสอบเส้นทางการเงินของแพลตฟอร์มออนไลน์เอกชนว่ามีความเป็นมาอย่างไร