สืบเนื่องจากการที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้เปิดยื่นขอรับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมแห่งชาติในลักษณะชุด (Package) หลังจากสัญญาสัมปทานดาวเทียม ระยะเวลา 30 ปี ภายใต้ความรับผิดชอบของ บมจ.ไทยคม สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา
ต่อมาปรากฎมีผู้ยื่นขอรับอนุญาต จำนวน 3 ราย ได้แก่
1. บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด
2. บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
3. บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด
โดย บริษัทที่สนใจยื่นรับเอกสารจำนวน 3 ราย ไม่ได้เดินทางมายื่นเอกสารการประมูล ได้แก่ บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ,บริษัท แอสเซนด์ แคปปิตอล จำกัด ของกลุ่มทรูฯ และ บริษัท เดอะวิน เทเลคอม จำกัด บริษัทลูกของ บมจ. เดอะแพรคทิเคิลโซลูชั่น
ขณะเดียวกัน กสทช. ได้กำหนดขั้นตอนต่างๆ การประมูลสัมปทาน ไว้ดังนี้
– ตรวจสอบคุณสมบัติ ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2565 – 5 มกราคม 2566
– ประกาศรายชื่อผู้ผ่านและมีสิทธิเข้าร่วมการประมูล โดยจะเสนอให้ที่ประชุม กสทช. รับรองผลในวันที่ 9 มกราคม 2566
– และหากมีผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลมากกว่า 1 ราย โดยไม่มีผู้ใดยื่นอุทธรณ์ สำนักงาน กสทช. จะทำการ Mock Auction ในวันเสาร์ที่ 14 มกราคม 2566 และทำการประมูลสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะชุด (Package) ในวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2566
ล่าสุด วันนี้ 6 ม.ค.66 นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี พร้อมด้วย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ที่ปรึกษาสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (สร.ทช.) พรรคสังคมประชาธิปไตย และพรรคไทยภักดี ได้เดินทางมายื่นหนังสือ ต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมอ่านแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาล และยกเลิกการประมูลสิทธิวงโคจรดาวเทียมและให้ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)หน่วยงานรัฐดำเนินการเอง โดยมีนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.) เป็นผู้รับหนังสือ
นพ.วรงค์ กล่าวว่า ในการดำเนินการเปิดประมูลสิทธิวงโคจรดาวเทียมโดยให้เอกชนเข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ ต้องขอเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องกิจการอวกาศ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญของชาติ และดาวเทียมเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลหากรัฐบาลมีนโยบายและข้อกำหนด ให้ต้องดูแลสมบัติชาติ และรัฐเป็นผู้ดำเนินการ ตามรัฐธรรมนูญทุกอย่างก็จะจบ
แต่หากปล่อยให้กสทช. เป็นผู้ดำเนินการ มองว่า สุดท้ายรัฐบาลจะถูกตำนิจากประชาชน เพราะเป็นการปัดความรับผิดชอบ และหากยังปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการเช่นเดียวกับ เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ที่พิสูจน์มาแล้วว่า การดำเนินกิจการดาวเทียมได้สร้างความมั่งคั่งให้กับผู้รับสัมปทาน จากคนธรรมดาที่ต้องไปแลกเช็คกลายเป็นมหาเศรษฐี อีกทั้งในการนำวงโคจรดาวเทียมที่กสทช.นำออกมาประมูลครั้งนี้ ยังเป็นตำแหน่งที่ดีอันดับต้นๆ ของโลก และยังครอบคลุมไปยังเรื่องของความมั่นคง ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ การประมูลจึงไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะอาจจะนำมาซึ่งภัยความมั่นคง และการจารกรรมต่างๆ จึงมองว่า รัฐควรที่จะดำเนินการเอง
และยิ่งโลกปัจจุบันเป็นการสื่อสารผ่านดาวเทียม เป็น space war fair ที่สำคัญกิจการดาวเทียมเวลามีปัญหารัฐต้องรับผิดชอบ ต้องใช้เงินภาษีประชาชนรับผิดชอบ แต่เรื่องของในช่องสัญญาณ หรือ ทรานสปอนเดอร์ ต่างให้เอกชนมาดำเนินการเรายอมรับได้
โดยในการดำเนินการครั้งนี้ ตนเองจะขอพึ่งนายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้เข้าดูแลและดำเนินการไม่ให้สมบัติของชาติตกไปอยู่กับเอกชน แต่ตนจะไม่ให้ค่า รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กระทรวง DES เพราะได้เสนอครม.และมีมติให้ NT ไปประมูลแข่งขันเพื่อดำเนินกิจการดาวเทียมนั้น กระทรวง DES กำลังเล่นปาหี่หลอกประชาชนหรือไม่ ในเมื่อเป็นกิจการของรัฐ วงโคจรดาวเทียมเป็นสิทธิของรัฐ เป็นสมบัติของประชาชน