องค์การสวนสัตว์ปล่อยนกกาฮัง นกกก คืนถิ่น 2 ตัว เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ณ ดอยหลวงเชียงดาว จ. เชียงใหม่

องค์การสวนสัตว์ปล่อยนกกาฮัง นกกก คืนถิ่น 2 ตัว เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ณ ดอยหลวงเชียงดาว จ. เชียงใหม่

องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังคงมุ่งมั่นดำเนินการศึกษาวิจัยที่เป็นการกอบกู้วิกฤติการณ์การสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าตามธรรมชาติ ด้วยการนำสัตว์ป่าหายากกลับคืนสู่ธรรมชาติเพื่อประโยชน์ของการฟื้นฟูทรัพยากรและการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย โดยการนำ “นกกาฮัง” หนึ่งในนกเงือกขนาดใหญ่ที่สุดของไทยปล่อยคืนสู่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ของจังหวัดเชียงใหม่ “นกกาฮัง” หรือ “นกกก” คู่แรกของจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นนกกาฮังคู่ที่สองที่ทำการทดลองปล่อยคืนสู่ธรรมชาติภาคเหนือ ภายหลังจากการสูญหายไปจากผืนป่าภาคเหนือของประเทศไทยมานานกว่า 20 ปี

 

ข่าวที่น่าสนใจ

วันที่ 9 มกราคม 2566 ณ สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ นายชัชวาลย์ ปัญญารองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย นายกฤตภาส ขันทะธงสกุลดี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ นายสงัด บูรณภัทรโชติ นายอำเภอเชียงดาว นายณัฐกุล ขันทะสอน หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว คณะผู้บริหารองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ประธานมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในพื้นที่ภาคเหนือ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หัวหน้าหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำชุมชน ผู้นำโรงเรียน ตัวแทนชาวบ้านในจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันเปิดโครงการ “การทดลองปล่อยนกกาฮังคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในเขตพื้นที่ภาคเหนือ” ณ สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้แนวคิด “นกกาฮังปิ๊กบ้าน” โดยการ นำนกกาฮังที่ได้รับการฟื้นฟูพฤติกรรมปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของดอยหลวงเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของกระบวนการในการฟื้นฟูประชากรนกเงือกขนาดใหญ่ขึ้นใหม่อีกครั้ง ภายหลังการสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภาคเหนือมานานนับ 20 ปี

จากความสำเร็จขั้นต้นของการนำนกกาฮังคู่แรก ที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภาคเหนือ ณ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จ. ลำปาง เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งนกที่ทำการทดลองปล่อยยังคงสามารถอาศัยอยู่ได้ในพื้นที่ป่าธรรมชาติ คณะผู้วิจัยของสวนสัตว์เปิดเขาเขียว องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าในพื้นที่ภาคเหนือกว่า 6 แห่ง และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาวิจัย การทดลองปล่อยนกกาฮังคืนสู่ธรรมชาติฯ เป็นครั้งที่ 2 ณ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ของสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว (พื้นที่บริเวณดอยหลวงเชียงดาว) ขึ้น ซึ่งถือเป็นนกกาฮังคู่แรก ที่ทำการทดลองปล่อยคืนสู่ธรรมชาติอย่างเป็นทางการในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่

 

นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าปัจจุบันการแพร่กระจายของนกกาฮังในประเทศไทยอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทั้งนี้พบว่า บางพื้นที่ของประเทศไทย เช่น พื้นที่ทางภาคเหนือ นกกาฮังได้สูญหายจากธรรมชาติไปหมดสิ้นในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา ทั้งนี้ทางองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ที่มีพันธะกิจหลักทางด้านการอนุรักษ์ วิจัยพันธุ์สัตว์ป่าหายากทั้งในถิ่นอาศัยและนอกถิ่นอาศัย ได้ดำเนินความพยายามในการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ จนมีจำนวนประชากรบางส่วนที่เพียงพอต่อการปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติเพื่อประโยชน์ในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ซึ่ง “นกกาฮัง” นั้นถือเป็นนกเงือก 1 ใน 13 ชนิดที่พบในประเทศไทย จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และอยู่ในบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ และเป็นชนิดพันธุ์ที่มีความโดดเด่น ดึงดูดความสนใจของสาธารณะชนทั่วไปในการสร้างให้เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์ป่าหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ของประเทศไทยได้

จึงมีแนวคิดริเริ่มในการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรนกเงือกขนาดใหญ่ขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์ภาคเหนือของประเทศไทย ทั้งนี้ตามแผนระยะที่ 1 ทางโครงการวิจัยฯ มีแผนการทดลองปล่อยนกกาฮังคู่แรกคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง และคู่ที่สอง ณ พื้นที่ป่าอนุรักษ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 2 ใน 6 เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อศึกษาการใช้พื้นที่เชิงนิเวศ การกระจาย และการอยู่รอดได้ในพื้นที่ โดยจะทยอยปล่อยเพิ่มเติมเป็นระยะๆ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภาคเหนือแห่งต่าง ๆ รวมถึงจะมีการดำเนินงานติดตามภายหลังการทดลองปล่อยที่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติของ IUCN SSC และ AZA ในการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติที่เป็นไปตามหลักทางวิชาการสากลในอีกหลายปีข้างหน้าต่อไป

จึงถือเป็นวาระสำคัญที่อยากให้เยาวชนและประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการช่วยกันอนุรักษ์นกกาฮังที่เป็นหนึ่งในนกเงือกขนาดใหญ่ของไทยนี้ ให้สามารถคงอยู่คู่กับจังหวัดเชียงใหม่ ดินแดนแหล่งต้นกำเนิดวัฒนธรรมอันทรงคุณค่ารวมถึงมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันสมบูรณ์ ทั้งนี้ดอยเชียงดาว” จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกจากยูเนสโก (UNESCO) ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

“เอกภพ” ได้ประกันตัว ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ปมให้ข้อมูลเท็จดิไอคอน จ่อฟ้องกลับ
สามเชฟดังร่วมรังสรรค์เมนูเพื่อการกุศลทางการแพทย์
"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น