รวม 8 ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการ "ดื่มนม" ลือสะพัดไม่ดีต่อสุขภาพ ย้ำไม่เป็นความจริง เช็คเลยมีอะไรบ้าง
ข่าวที่น่าสนใจ
1. คนเราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ “ดื่มนม” วัว เพราะมีน้ำตาลแลคโตสที่ร่างกายย่อยไม่ได้
- ในความเป็นจริงแล้วคนส่วนใหญ่แล้วสามารถย่อยนมได้สบาย
- น้ำตาลแลคโตส (Lactose) ที่อยู่ในนม เกิดขึ้นตามธรรมชาติและต้องใช้เอนไซม์แลคเตส (lactase) ในร่างกายเราในการย่อย ไม่ว่าจะนมแม่ของคน หรือของวัว แพะ แกะ ฯลฯ ก็ตาม
แต่ก็มีหลายคนที่มีอาการแพ้น้ำตาลแลคโตส (lactose intolerance) เนื่องจาก ร่างกายมีเอนไซม์แลคเตสน้อย ทำให้ย่อยน้ำตาลในนมไม่หมด น้ำตาลแลกโตสถูกส่งผ่านมาถึงลำไส้ใหญ่และมาถูกเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ย่อยเป็นอาหาร จึงเกิดอาการไม่สบายต่อระบบทางเดินอาหารหลังจากดื่ม นมหรือกินผลิตภัณฑ์จากนม เช่น
- แน่นท้อง
- ท้องอืด
- ปวดท้อง
- ผายลมบ่อย
- คลื่นไส้
- ท้องเสีย
- อาเจียน
- ถ่ายเหลว
พบในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก และในบางคนอาจจะเกิดขึ้นชั่วคราวจากการติดเชื้อโรคในทางเดินอาหาร จนไปทำลายเยื่อบุลำไส้และทำให้สร้างเอนไซม์แลคเตสไม่ได้ (เมื่อแล้ว ก็สามารถกลับมาดื่ม นมได้)
มีการประเมินว่า ประมาณ 2 ใน 3 ของประชากรทั้งโลกมีอาการแพ้น้ำตาลแลคโตส โดยอัตราส่วนของประชากรชาวเอเชียและชาวอัฟริกา ที่มีอาการแพ้น้ำตาลแลกโตสมีอัตราส่วนสูงกว่าชาวยุโรป เนื่องจาก มีการการบริโภคนมในอาหารประจำวันน้อยกว่า
- ถ้าใครมีอาการแพ้น้ำตาลแลคโตส ก็ยังสามารถบริโภคอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์นมชนิดที่เอาน้ำตาลแลคโตสออกไปแล้ว (เช่น เนย) หรือถูกย่อยแล้ว (เช่น ชีส) หรือถูกหมัก (เช่น โยเกิร์ต) หรือแม้แต่นมแลคโตสฟรี สามารถได้รับสารอาหารต่าง ๆ จากนมได้อย่างครบถ้วน ขาดแค่น้ำตาลแลคโตสเท่านั้น
- นมเป็นอาหารที่มีแคลเซียมสูง เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของกระดูกของเด็ก และการรักษากระดูกของผู้ใหญ่ให้เป็นปกติ
2. นมเต็มไปด้วยไขมัน ทำให้อ้วน
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องของจำนวนแคลอรีที่กินเข้าไปเทียบกับจำนวนที่ร่างกายต้องการนำไปใช้งาน ขึ้นอยู่กับปริมาณอาหารทุกอย่างที่กินเข้าไป และจากไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวัน
- ไม่ได้จะเกิดจากเพียงแค่อาหารหรือเครื่องดื่มชนิดใดชนิดหนึ่ง
- มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เผยว่า การดื่ม นมมีแนวโน้มเป็นกลาง ต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว และนมไม่ใช่อาหารที่มีไขมันสูงอย่างที่หลายคนเข้าใจ
- แม้แต่นมที่เรียกว่า ฟูลแฟตมิลค์ full fat milk ก็มีไขมันอยู่ในนมเพียงแค่ 4% หรือถ้าเป็นนมพร่องมันเนยลงมา ไขมันก็จะอยู่ที่ประมาณน้อยกว่า 2%
3. นมทำให้เป็นสิว
- แม้ว่าจะมีการสำรวจพบว่าคนบางคนที่ดื่ม นมสามารถทำให้เป็นสิวจริง แต่ก็ยังไม่มีการรีวิวงานวิจัยหลายนี้อย่างเป็นระบบ และพบว่าการสำรวจดังกล่าว มักจะไม่ได้เอาปัจจัยอื่น ๆ มาคิดด้วย
- และยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่านมทำให้คนส่วนใหญ่เกิดปัญหาผิวหนังขึ้น
- โดยรวมแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังเห็นพ้องกันว่า ไม่ได้มีหลักฐานเพียงพอที่จะบอกว่ามีความเชื่อมโยงชัดเจนระหว่างนมกับการเกิดสิว หรือบอกว่านมเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปัญหาผิวหนังกับคนส่วนใหญ่
- ในทางกลับกัน นมและผลิตภัณฑ์นมยังอุดมไปด้วสารอาหารหลายอย่าง เช่น ซิงค์ (สังกะสี), ไอโอดีน และวิตามิน A วิตามิน B2 ที่ดีต่อการรักษาผิว
4. นมเต็มไปด้วยฮอร์โมน ยาปฏิชีวนะ และสารปรุงแต่งต่าง ๆ
- ในน้ำนมนั้นมีฮอร์โมนกลุ่มสเตียรอยด์ตามธรรมชาติ เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่จริง แต่มีเพียงจำนวนน้อยมาก น้อยกว่าที่ร่างกายของคนเราสร้างขึ้นเองเยอะ
- น้ำนมมีฮอร์โมนเยอะ เพราะ ถูกฉีดด้วยฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต ไม่เป็นความจริง วิธีการดังกล่าวได้ถูกห้ามทำไปแล้ว (เช่น ในยุโรป ได้มีการแบนการฉีดฮอร์โมนดังกลาว เมื่อปี ค.ศ. 1999 บนหลักการสุขภาพของสัตว์)
- และยังมีการอ้างว่า นมมียาปฏิชีวนะ (antibiotic) ก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน เพราะถึงแม้จะมีการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาวัวที่ป่วย แต่จะต้องหยุดการรีดนมไว้ก่อน จนกว่าร่างกายของวัวจะกำจัดเอายาปฏิชีวนะไปหมดแล้ว นมวัวจากฟาร์มที่ได้มาตรฐานจะมีการนำมาตรวจหายาปฏิชีวนะเสียก่อน ถ้าพบแม้เพียงเล็กน้อย นมทั้งแท็งค์ที่ขนมาก็จะถูกยกเลิกการรับซื้อ และเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวก็จะสูญเสียรายได้อย่างมาก
- นอกจากนี้ ยังมีมีความเชื่อว่า นมเต็มไปด้วยสารปรุงแต่งสังเคราะห์หลายชนิด ก็ไม่เป็นความจริงอีกเช่นกัน
- นมจืดสามารถนำมาบริโภคเป็นอาหารตามธรรมชาติได้โดยที่ไม่ต้องเติมสารอะไรลงไปอีก และกระบวนการผลิตน้ำนมจากฟาร์ม สู่โรงงาน สู่มือผู้บริโภค ก็แทบจะไม่ต้องทำอะไรมาก มีเพียงแค่การนำไปฆ่าเชื้อ ด้วยวิธีพาสเจอไรซ์ โดยการให้ความร้อนสูงเป็นเวลาสั้น ๆ และลดอุณหภูมิลง เพื่อทำลายเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายเท่านั้น
5. นมเต็มไปด้วยหนอง
- ในน้ำนมตามปกติของวัว (หรือแม้แต่นมแม่) มีเม็ดเลือดขาวอยู่แล้ว ซึ่งมีส่วนช่วยให้น้ำนมที่กินเข้าไปนั้น ไปเสริมภูมิคุ้มกันในทางเดินอาหาร ต่อต้านกับการติดเชื้อแบคทีเรียก่อโรค
- นอกจากนี้ ปริมาณของเม็ดเลือดขาวช่วยบอกถึงคุณภาพของน้ำนมได้อีกด้วย
- บ้างก็มีการลือกันว่า การดื่มนมทำให้คัดจมูก และมีน้ำมูกออกมามาก และยังทำให้มีน้ำลายเหนียวอีก ซึ่งในปัจจุบันยืนยันว่า ไม่มีหลักฐานตามอย่างที่ลือกัน
6. นมดูดเอาแคลเซียมไปจากกระดูก
- เกิดจากการที่มีคนเสนอสมมติฐานเอาไว้ สุขภาพของร่างกายเราสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ด้วยการกินอาหารที่มีความเป็นกรดให้น้อยลง หรือก็คือให้กินอาหารที่เป็นด่าง
- ซึ่งกลุ่มที่ศรัทธาในเรื่องอาหารด่างนั้น เชื่อว่าอาหารที่มีโปรตีนสูงอย่างเช่นนม จะทำให้เลือดของเราเป็นกรดมากขึ้น โดยอ้างว่าร่างกายจะพยายามจะลดความเป็นกรด ด้วยการดึงเอาแร่ธาตุที่เป็นด่างออกมา เช่นแคลเซียมจากกระดูก ทำให้กระดูกอ่อนแอ และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุน
- แต่ในความเป็นจริงแล้ว ระดับของค่า PH ของเลือดคนเราถูกควบคุมอย่างเข้มงวดด้วยการทำงานของไตและปอด และไม่ได้เป็นผลจากอาหารที่เรากินเข้าไปแต่อย่างไร
- ยิ่งไปกว่านั้น ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าอาหารที่มีความเป็นกรดไม่ได้จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อระดับของแคลเซียม แต่อย่างใด
- ในทางตรงกันข้าม อาหารเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ต่อสุขภาพของกระดูก ทั้งสารอาหารจำเป็นต้องการเจริญเติบโตและพัฒนาของกระดูกของเด็ก และจำเป็นต่อการรักษากระดูกของผู้ใหญ่และผู้สูงวัยให้เป็นปกติอีกด้วย
7. นมมีน้ำตาลสูง ทำให้เป็นโรคเบาหวาน
- จริง ๆ แล้วน้ำตาลในน้ำนมนั้นมีอยู่ประมาณ 4.7% (ค่าอยู่ระหว่างมะเขือเทศกับมันหวาน) และอยู่ในรูปของน้ำตาลแลคโตสตามธรรมชาติ ไม่เหมือนพวกน้ำตาลที่เพิ่มเข้าไปในอาหาร
- นอกจากจะไม่มีหลักฐานที่ระบุว่านมและผลิตภัณฑ์นมเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานหรือโรคอ้วนแล้ว นมยังช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ในระยะยาวได้ด้วย
- อย่างไรก็ตาม มีพวกโยเกิร์ตหรือเครื่องดื่มนมที่แต่งรสชาติด้วยการเติมน้ำตาลลงไป ซึ่งปริมาณนั้นมากน้อยต่างกันไปในแต่ละยี่ห้อ ซึ่งจะมีระบุเอาไว้ในฉลากสารอาหารบนบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้พิจารณาเวลาจะควบคุมระดับน้ำตาลที่บริโภคในแต่ละวัน
- ส่วนความเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานประเภท 2 นั้น ผลการศึกษาหลายฉบับ เผยว่า การกินอาหารที่มีผลิตภัณฑ์นมมากขึ้น โดยเฉพาะโยเกิร์ต อาจจะช่วยป้องกันการเป็นโรคเบาหวานประเภทนี้ได้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว คำแนะนำที่ดีที่สุดในการลดโอกาสในเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 คือ การพยายามและรักษาสุขภาพให้ดี กระชับกระเฉงขึ้น และกินอาหารที่มีประโยชน์และสมดุลย์มากขึ้น ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์นมด้วย
8. นมทำให้เป็นมะเร็ง
- เป็นเรื่องที่ชอบอ้างกันมากที่สุดของกลุ่มที่ต่อต้านการดื่มนม โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมาก
- แต่หน่วยงานที่เกี่ยวกับโรคมะเร็งอย่างเช่น The World Cancer Research Fund (WCRF) ระบุว่า จริง ๆ แล้ว มีหลักฐานอยู่อย่างจำกัดว่าการบริโภคผลิตภัณฑ์นมมากขึ้นอาจจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่เพิ่มต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ในทางตรงกันข้าม มีหลักฐานอยู่เยอะมากที่บอกว่าการมีน้ำหนักตัวเกิน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากขั้นลุกลาม
- ซึ่งทาง WCRF ระบุว่า มีหลักฐานบางส่วนที่บ่งชี้ว่า การบริโภคผลิตภัณฑ์นมจริง ๆ แล้วอาจจะลดโอกาสที่จะเกิดมะเร็งเต้านมในช่วงก่อนหมดประจำเดือนลงได้ แม้ว่าจะยังเป็นหัวข้อวิจัยที่ต้องการการศึกษาเพิ่มขึ้นก่อนที่จะมีข้อสรุปออกมาได้
- ยิ่งไปกว่านั้น ทาง WCRF ยังบอกว่าผลิตภัณฑ์นม รวมถึงการบริโภคพวกธัญพืชแบบโฮลเกรน และอาหารที่มีเส้นใยสูง สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้
- ดื่มนม, นม, แลคโตส, ผลิตภัณฑ์นม, น้ำตาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง