สำนักข่าววอยซ์ออฟอเมริกา ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ “ทูตไทยในวอชิงตันเผยเบื้องหลังดีลวัคซีนกับสหรัฐฯ” โดยสัมภาษณ์ นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ถึงกรณีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้บริจาควัคซีนไฟเซอร์ให้รัฐบาลไทย 1.5 ล้านโดส ซึ่ง นายมนัสวี เปิดเผยว่า เดิมทางสถานทูตฯ ได้รับแจ้งจากทำเนียบขาวโดยตรงว่าจะบริจาควัคซีนให้ไทย 1.5 ล้านโดส ในเวลาไล่เลี่ยกัน นางแทมมี ลัดดา ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกเชื้อสายไทย ก็โทร.มาแจ้งข่าวว่า ในนามของประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีความห่วงใยกับประชาชนคนไทย ถือว่าเป็นมิตรเก่าแท้ของสหรัฐฯ ก็จะขอเพิ่มวัคซีนให้ประเทศไทยอีกต่างหาก 1 ล้านโดส รวมแล้วเป็น 2.5 ล้านล็อตแรก 1.5 ล้านโดสก็ไปถึงเมืองไทยแล้วสัปดาห์นี้ แล้วก็หาล็อตที่ 2 สถานทูตฯ กำลังประสานกับทางทำเนียบขาวอยู่ เพื่อให้เขาเร่งรัดให้รีบส่งให้เมืองไทย
ทั้งนี้ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ทางสถานทูตฯ ได้ทำงานอย่างหนัก ในทุกช่องทางที่เป็นไปได้ในการประสานกับหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ในสหรัฐฯ เพื่อเจรจาเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของทุกประเทศทั่วโลกทั้งฝ่ายบริษัทผู้ผลิตโดยตรง ฝ่ายรัฐบาลและทำเนียบขาวกับกระทรวงต่างประเทศ กับ ส.ส. และ ส.ว ของสหรัฐฯ เพื่อผลักดันให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยเข้าถึงวัคซีนเหล่านี้ได้
เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน กล่าวต่อว่า วิธีที่จะเข้าถึงฝ่ายรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ใช่แค่ข้าราชการด้วยกันเอง ต้องไปถึงกลุ่มต่างๆ ภาคเอกชน เข้าถึงภาคสถาบันวิชาการซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการส่งข้อมูลให้กับทางสภาฯ หรือให้กับทางรัฐบาล เราก็เห็นว่าการที่ตนไปพบกับฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายรัฐสภาฯ ไม่เพียงพอ เราต้องพยายามหาแนวร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งของไทยกับของสหรัฐฯ ที่จะช่วยโน้มน้าวรัฐบาลในการในการเดินหน้าความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐฯนอกจากนี้ ทางสถานทูตฯ กำลังพยายามทุกวิถีทางเพื่อที่จะขอให้มีการส่งมอบวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 20 ล้านโดส ที่รัฐบาลไทยได้ลงนามจัดซื้อและมีกำหนดส่งมอบในไตรมาสที่ 4 หรือในปลายปีนี้ ให้ส่งมอบได้เร็วขึ้นหากเป็นไปได้ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย และยังอาศัยเครือข่ายเพื่อนประเทศไทย บุคคลที่รู้จักชาวสหรัฐฯ ที่รู้จักและมีเส้นสายต่างๆ ให้ช่วยรณรงค์ให้ประเทศไทยอีกรอบหนึ่ง
นอกจากนี้ ทางสถานทูตไทยฯ ได้ติดต่อกับทุกบริษัทวัคซีนของสหรัฐฯ เพื่อร่วมกันวิจัยและผลิตวัคซีน ซึ่งก็เดินหน้าไปต่อไป และพยายามจับเชื่อมโยงองค์การ สถาบัน หรือบริษัทต่างๆ ที่มีความชำนาญ ที่จะสามารถมาช่วยเป็นพันธมิตรในการผลิตวัคซีนในประเทศไทยแล้วทางกรุงเทพฯ ก็ได้มีการติดต่อโดยตรงกับบริษัทเหล่านี้ ที่มีตัวแทนอยู่ในเมืองไทย ซึ่งไทยมีโอกาสในสถาบันต่างๆ ที่มีมาตรฐานสูง และมีผลงานที่เด่นชัดแล้ว จากประสบการณ์ในอดีตเคยร่วมผลิตยารักษามาลาเรีย