วัน "ตรุษจีน 2566" พลาดไม่ได้กับงานโคมไฟศาลเจ้าห้าพระองค์ บางปู จัดหนัก 24 วันเต็ม จะสายคอนเทนต์คอนใจ เช็คอินโลเคชันสวย ๆ หรือแก้ชงปัง ๆ ก็จัดได้หมด
ข่าวที่น่าสนใจ
ใครกำลังมองหาสถานที่แก้ชง พร้อมสถานที่ถ่ายรูปเป๊ะปัง จัดเต็ม 24 วันใน วัน “ตรุษจีน 2566“ พลาดไม่ได้กับศาลเจ้าเสียนหลอไต้เทียนกง หรือ ศาลเจ้า 5 พระองค์ หรือ ศาลเจ้ามูลนิธิธรรมกตัญญู ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม-12 กุมภาพันธ์นี้
ศาลเจ้าขนาดใหญ่ที่มีสถาปัตยกรรมและประติมากรรมจีนสวยงามโดดเด่น
- สิงโตคู่แกะสลักขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
- เพดานศาลเจ้าประดับไม้แกะสลักลวดลายวิจิตรตระการตา กราบสักการะเทพเจ้า 5 พระองค์ (โหงวหวังเอี้ย)
- สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล
- ขอพร เสริมดวงชะตา แก้ชง
นอกจากนี้ ในช่วงเทศกาลตรุษจีน และเทศกาลหยวนเซียว (เทศกาลโคมไฟ) ของทุกปี จะมีการจัดงานเทศกาลประดับโคมไฟในรูปต่าง ๆ กว่า 5,000 ดวง
เทศกาลหยวนเซียว เป็นวันเทศกาลโคมไฟ ที่พระจันทร์เต็มดวงเป็นครั้งแรกของปีใหม่ คือ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 1 (เดือนอ้าย) เทศกาลหยวนเซียว จึงมีขึ้นหลังจากตรุษจีนไปแล้ว 14 วัน (หรือนับไป 2 สัปดาห์หลังตรุษจีน)
- โคมไฟเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นสิริมงคลของประเพณีจีน
- จึงเป็นวันที่ชาวจีนจะนิยมกินขนมบัวลอย และพาครอบครัวออกมาชมโคมไฟประดับ
- ซึ่งโคมไฟจีน หรือ เต็งลั้ง (Chinese Lantern) เป็นโคมไฟทรงกลม ด้านในทำโครงด้วยไม้ไผ่ ด้านนอกหุ้มด้วยกระดาษสา (ปัจจุบันอาจใช้วัสดุเปลี่ยนไปบ้าง เช่น ใช้โครงเป็นลวด และใช้ผ้ากำมะหยี่แทน)
ศาลเจ้าเสียนหลอไต้เทียนกง เป็นศาลเจ้าที่มีต้นกำเนิดที่ไต้หวัน ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2534 บนเนื้อที่ 26.5 ไร่ รูปแบบทางสถาปัตยกรรมได้ถอดแบบมาจากศาลเจ้ามูลนิธิหนานคุณเซินไต้เทียนกง ในไต้หวัน โดยมีความศรัทธาในเรื่องเทพเจ้าโหงวหวังเอี้ย* ที่มีผู้อัญเชิญเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2519
ในเมืองไทยจะมีศาลเจ้าที่เหมือนกันอีกแห่งก็ คือ ศาลเจ้าไท่หนานไต้เทียนกง ที่อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ตามประวัติกล่าวว่ามีผู้พบกิมซิ้น (เทวรูป หรือรูปเคารพ) ของเทพโหงวหวังเอี้ย อยู่ในเรือแล้วมาขึ้นที่ไต้หวัน จึงอัญเชิญขึ้นมาและสร้างเป็นศาลเจ้า ชาวไต้หวันเชื่อกันว่า
- ช่วยคุ้มครองให้ประสบความสุข
- ความสำเร็จ เจริญรุ่งเรือง
- ปราศจากโรคภัย เมื่ออธิษฐานขอสิ่งใด ก็จะได้ดังปรารถนา
ลักษณะศาลเจ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ การจัดวางอาคารเป็นแนวกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยเว้นเป็นพื้นที่ว่างตรงกลางเป็นระยะ ๆ ส่วนด้านในสุดเป็นวิหารที่ประดิษฐานองค์เทพเจ้าต่าง ๆ ส่วนบริเวณโดยรอบศาลเจ้า จัดเป็นสวน สนามหญ้า สวนหิน บ่อปลา และปลูกต้นไม้เป็นสวนหย่อมดูเรียบร้อยสะอาดตา ตรงกลางของพื้นที่เป็นส่วนของศาลเจ้าในรูปแบบอาคารสถาปัตยกรรมจีน
ก่อนเข้าถึงตัวอาคารศาลเจ้า ด้านหน้ามีซุ้มทางเข้าสร้างเป็นแนวยาว รองรับด้วยเสากลมใหญ่สีแดงสดเป็นคู่ตลอดแนว ส่วนของหลังคาสูงซ้อน 4 ชั้น ปลายหลังคาโค้งงอนตามรูปแบบหลังคาจีน มุงด้วยกระเบื้องลอนแบบวัดจีน มีศาลาทางเดินสร้างเป็นแนวยาวในแนวตอนลึก คล้ายกับระเบียงคดของวัดไทย ศาลาทางเดิน 2 ข้างนี้ เป็นทางเดินนี้มีทางลาดสำหรับนำรถเข็นขึ้นได้
ส่วนของอาคารวิหารหลังใหญ่ เป็นจุดที่มีความโดดเด่นด้านประติมากรรม และศิลปกรรมจีน แสดงถึงความละเอียดอ่อนช้อยด้านงานแกะ งานปั้น ใช้สีแบบสีปูนสด สีแดง และสีทอง ด้านหน้าทางเข้าประตูศาลเจ้า มีสิงห์คู่ขนาดใหญ่ตั้งอยู่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง