วันนี้ เพจเฟสบุ๊ก สวนเบญจกิติ ได้โพสต์ชี้แจงประเด็นการดูแลส่วนป่าเบญจกิติ หลังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากการปล่อยให้สภาพสวนป่าเสื่อมโทรม หญ้าแห้งเฉา โดยแอดเพจเฟสบุ๊ก สวนเบญจกิติ ได้ระบุตอนหนึ่งว่า แนวคิดการออกแบบสวนป่าเบญจกิติคือ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำบางกอก จะมีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบแต่ละบ่อน้ำ ซึ่งมีทั้งหมด 4 บ่อน้ำ โดยในแต่ละวันจะปฏิบัติงานตามแผนการปฏิบัติงานที่ได้วางไว้ ซึ่งก่อนจะเกิดปัญหาน้ำไม่เพียงพอจนทำให้เกิดกระแสการวิพากย์วิจารณ์นั้น ทางสวนได้พยายามแก้ไขเอง โดยพบว่าในส่วนของ wet land มีการรั่ว และระดับน้ำในคลองไผ่สิงโตต่ำเกินกว่าจะเข้ามาเดินระบบได้ จึงสูบน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำเล็กที่เรามี อุดรูรั่วของลำรางส่งน้ำ และสูบน้ำจากบ่อน้ำขนาดใหญ่ในสวนน้ำเข้าสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 2-3 ทุกวัน แต่เนื่องจากสายท่อสูบน้ำต้องพาดผ่านทางเดินวิ่ง และทางจักรยาน เกรงจะทำให้ผู้ปั่นจักรยานได้รับความอันตราย จึงต้องทำเฉพาะช่วงที่คนปั่นน้อยคือ ระหว่าง 10.00 -15.00 น. ซึ่งก่อนหน้านี้มีน้ำต้นทุนที่เก็บจากฝนตกเพียงพอ จึงไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อการใช้น้ำในฤดูแล้ง มีมากกว่าน้ำที่สูบได้ และรูรั่วเริ่มขยายขึ้นอีก จึงทำให้น้ำแห้งอย่างรวดเร็วดังกล่าว ผู้บริหารจึงได้มาช่วยแก้ปัญหาโดยสำนักการระบายน้ำได้นำเครื่องสูบน้ำ ตอนนี้เพิ่มเป็น 4 เครื่อง มาช่วยสูบน้ำจากคลองไผ่สิงโตเข้ามาให้เพียงพอ และยังมาช่วยซ่อมรอยรั่วของลำราง และทางสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. และทหารได้นำรถบรรทุกน้ำมาช่วยรดน้ำต้นไม้ในจุดที่สปริงเกลอร์ไม่สามารถดูดน้ำมาใช้ได้ แอดต้องขอบพระคุณทุกฝ่ายทุกท่านจริงๆ
เพจสวนเบญจกิติ แจงปมดราม่า สภาพสวนเสื่อมโทรม ยอมรับผิด ดูแลบกพร่อง เจอปัญหาเครื่องสูบ-น้ำระเหยไว
ข่าวที่น่าสนใจ
ทั้งนี้ แอดมินยังขอสรุปประเด็นที่หลายท่านสงสัย
1. ทำไมปล่อยให้น้ำเน่าเสียในสวน
ตอบ เนื่องจากแนวคิดในการออกแบบคือ สวนนี้จะไม่ใช่สวนสาธารณะ ที่พักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น ต้องการให้สวนแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ และมีส่วนช่วยลดน้ำเสียชุมชน จึงได้คิดนำน้ำจากคลองไผ่สิงโตมาบำบัดด้วยวิธีธรรมชาติ แล้วจึงปล่อยให้ไหลไปตามลำราง ส่วนพืชน้ำต่างๆ มีหน้าที่ดูดธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์แก่พืช พร้อมปล่อยออกซิเจน ทำให้น้ำมีคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ
2. หญ้าและต้นไม้บนเกาะกลางน้ำเหี่ยวเฉา แห้งตาย ไร้การดูแล
ตอบ บริเวณเกาะกลางน้ำ ผู้ออกแบบตั้งใจให้เป็นที่อยู่ของนกและสัตว์ ให้มีการรบกวนจากคนน้อยที่สุด จึงเลือกปลูกหญ้ารูซี่ที่ทนทาน และติดเมล็ดแห้งตายและงอกขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้ไปตรวจสอบแล้วช่วงนี้น้องกำลังติดเมล็ด จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นต้นหญ้าเหี่ยวแห้งทั่วไปทุกเกาะ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ต้องดูแลรดน้ำต้นไม้ โดยเฉพาะเกาะที่มีไม้กล้า ไม้ขุดล้อม เพราะช่วง 3-5 ปีแรกที่ต้นไม้ดังกล่าวยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ ยังต้องการการดูแล ต้องใช้เรือและเครื่องสูบน้ำช่วย
3.ไฟสกายวอล์คบางจุดหลุดลงมา และไม่ติด
ตอบ เนื่องจากสวนนี้ยังอยู่ในระยะประกัน เราได้แจ้งผู้กอสร้างให้แจ้งซัพพลายเออร์มาซ่อมแล้ว อยู่ระหว่างการแก้ไข
4. บางพื้นที่หญ้าขึ้นรก
ตอบ การดูแลสวนป่าตามแนวคิดผู้ออกแบบ ในบางจุดต้องปล่อยให้รก เพื่อเป็นที่อาศัยของเหล่าแมลง และนก การกำจัดวัชพืชทำโดยการเขตกรรรมเท่านั้น แต่พื้นที่ที่คนเข้าถึง ที่ปลูกหญ้ามาเลย์ ก็ต้องตัดให้เรียบสั้น
5. ทำไมสวนสาธารณะอื่นๆ ของ กทม. ยังเขียวขจี แต่สวนป่าเบญจกิติแห้งแล้ง
ตอบ เนื่องจากแนวคิดในการออกแบบแตกต่างกัน การเลือกพืชพรรณแตกต่างกัน โดยเฉพาะหญ้ารูซี่ การแห้งของหญ้ารูซี่เป็นไปตามธรรมชาติ
6. บางจุดมีขยะ ถุงพลาสติก ขวดน้ำนอกถัง
ตอบ เรามีพนักงานทำความสะอาดพื้นที่ เริ่มตั้งแต่ 07.00 -16.00 น. โดยจะเก็บกวาดและเทถังขยะก่อนเลิกงาน แต่เวลา16.00.-21.00 น. เป็นช่วงที่มีผู้มาใช้บริการจำนวนมาก เราจัดพนักงานเก็บขยะในถังไปทิ้งเพื่อไม่ให้ขยะล้นถัง ถ้าใครมาที่สวนจะเจอขาใหญ่ในสวน นั่นก็คือเหล่าอีกา ที่จะมาด้อมๆ มองๆ คนที่ไม่ทิ้งขยะในถัง บางครั้งถึงกับโฉบมาขโมยถุงอาหารก็มี
7. สวนป่าไม่ใช่ป่าจริงๆ ทำไมจึงไม่มีการดูแล
ตอบ เรามีการดูแลตามที่ได้กล่าวข้างต้น แต่เนื่องจากน้ำระเหยไว และเราไม่สามารถแก้ไขทัน อันนี้แอดรับผิด ซึ่งตอนนี้เราได้รับการช่วยเหลือเครื่องสูบน้ำตัวใหญ่ 4 เครื่องจากสำนักการระบายน้ำ สูบน้ำช่วงสวนปิด 21.00-05.00 น. และเหล่าทหารจิตอาสา ที่จะมาฉีดพ่นน้ำในส่วนที่น้ำจากระบบยังไปไม่ถึง
8.สวนโทรมไปมาก ดังรูปที่เปรียบเทียบ
ตอบ รูปที่เปรียบเทียบเป็นรูปที่ถ่ายคนละจุด แนวคิดการออกแบบและปลูกพืชพรรณต่างกัน แอดจึงต้องการให้นำภาพจากจุดเดียวกันต่างเวลามาเปรียบเทียบ เพื่อจะอธิบายได้ถูกต้อง
ในตอนท้ายแอดมินได้ขอบคุณในความห่วงใย และข้อแนะนำที่มีปะโยชน์จากทุกท่าน และจะนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาสวนแห่งนี้ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง