ฟันธงผลดีรวมธุรกิจใช้ชื่อ “บมจ.ทรูฯ” ยึดกสทช.คงแบรนด์ DTAC

ฟันธงผลดีรวมธุรกิจใช้ชื่อ "บมจ.ทรูฯ" ยึดกสทช.คงแบรนด์ DTAC

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 ม.ค.66 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน ) หรือ DTAC ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รายงานความคืบหน้าที่สำคัญของการรวมธุรกิจระหว่าง 2 บริษัท โดยมีสาระสำคัญ ประกอบด้วย

1.มติกำหนดวันประชุมผู้ถือหุ้นร่วมระหว่างผู้ถือหุ้นของ TRUE และ ผู้ถือหุ้นของ DTAC ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 แบบออนไลน์ เพื่อพิจารณาเรื่อง ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรวมธุรกิจ รวมถึงเตรียมเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วม พิจารณาและอนุมัติชื่อของบริษัทใหม่ คือ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ชื่อย่อหลักทรัพย์ “TRUE” ทุนจดทะเบียน 1.38 แสนล้านบาท (พาร์ 4 บาท)

2.กําหนดวันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นในวันที่ 22 ก.พ. 66 เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นของบริษัทใหม่ (จะมีจัดสรรหุ้นในบริษัทใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ TRUE และ DTAC ในอัตรา 1 หุ้นเดิมใน TRUE : 0.60018 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นเดิมใน DTAC : 6.13444 หุ้นในบริษัทใหม่) โดยผู้ที่มีสิทธิจะได้รับการจัดสรรหุ้นในบริษัทใหม่ต้องเป็นผู้มีรายชื่อในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของ TRUE และ/หรือ DTAC ณ วันที่ 22 ก.พ. 66 เท่านั้น

3. ขอหยุดพักการซื้อขายหุ้นเป็นเวลา 9 วันทําการ (20 ก.พ. 2566 ถึง 2 มี.ค. 2566) เพื่อเตรียมการเกี่ยวกับการจัดสรรหุ้นของบริษัทใหม่ ตลอดจนดําเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับการนําบริษัทใหม่เข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

 

ขณะที่ทาง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน ) หรือ DTAC ออกเอกสารเผยแพร่ เกี่ยวกับการควบรวมธุรกิจ หลังจากมีความพยายามสื่อสารข้อมูลคลาดเคลื่อน ให้เกิดความเข้าใจผิดทั้งในส่วนของพนักงานและลูกค้า โดยระบุว่า “แบรนด์ดีแทคพร้อมเดินหน้าควบรวม ชูบ้านหลังใหม่คงแบรนด์เดิมแต่ให้มากกว่าเดิม ลูกค้าจะได้รับความสุขจากการใช้งานเพิ่มขึ้น ทั้ง 5G สัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ผลิตภัณฑ์และบริการหลากหลายมากกว่าเดิม เพิ่มช่องทางการใช้บริการ และสิทธิประโยชน์มากมาย ดีแทคลุยเดินหน้าเพื่อลูกค้าหลังบอร์ดทั้งสองบริษัทประกาศความพร้อมดำเนินการควบรวมให้แล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปีนี้

เมื่อควบรวมสู่บริษัทใหม่เสร็จแล้ว แบรนด์ดีแทคยังคงให้บริการต่อไป ลูกค้าใช้งานได้ปกติเหมือนเดิมและได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นมากมาย โดยบ้านหลังใหม่จะให้บริการหลากหลาย ทั้ง บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต โทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก และบริการดิจิทัล เพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุดจากนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการที่น่าสนใจมากกว่าเดิม พร้อมทั้งเน้นการตอบโจทย์การให้บริการที่ตรงกับความต้องการลูกค้าในราคาที่เข้าถึงได้

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ล่าสุด รศ.ดร.สุชาติ ไตรภพสกุล อาจารย์ประจำคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้ความเห็นถึงประเด็นการควบรวมธุรกิจของ 2 ค่ายยักษ์โทรศัพท์มือถือ แต่เลือกใช้ชื่อ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่า สามารถนำชื่อเดิมของบริษัทใดบริษัทหนึ่งมาเป็นชื่อใหม่ได้ เพราะไม่กระทบทั้งหลักการตลาดและหลักการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

อีกทั้งบริการยังคงใช้แบรนด์ ทรู และ ดีแทค ต่อไป ดังนั้นผู้บริโภคก็จะไม่สับสน ในขณะที่การเลือกใช้ชื่อบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน ยังถือว่า ประหยัดงบประมาณในการสื่อสาร เพราะชื่อบริษัททรูนั้น ครอบคลุมของเขตที่กว้างกว่า โดยสรุปภายหลังการควบรวม ใช้ชื่อทรู ก็ถือว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร โดยต้องทำความเข้าใจในแต่ละประเด็นดังนี้

ประเด็นที่ 1 เรื่อง หลักการของ Amalgamation หรือ การควบรวมธุรกิจตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า Amalgamation เป็นการรวมบริษัทเดิมตั้งแต่ 2 บริษัทขึ้นไป เข้าเป็นบริษัทที่จดทะเบียนขึ้นใหม่ โดยจะมีบริษัทใหม่เกิดขึ้น ส่วนบริษัทเดิมทั้งคู่ก็จะเลิกกิจการไป โดยบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ อันเกิดจากการควบรวม จะใช้ชื่อบริษัทเดิมที่ควบเข้ากัน หรือจะตั้งชื่อใหม่ก็ได้ ซึ่งกรณีนี้ บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น เมื่อใช้ชื่อบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อันเป็นชื่อเดิมของบริษัทหนึ่งในสองบริษัทที่ควบรวมกัน ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติและเป็นไปตามบทบัญญัติตามกฎหมายที่ให้สิทธิดำเนินการได้

ประเด็นที่ 2 คือ ถือหุ้นเท่ากัน แต่บริษัทใหม่ (New Co) ยังคงใช้ชื่อ ทรู สำหรับเรื่องนี้ต้องดูโครงสร้างผู้ถือหุ้น จะเห็นได้ว่า เป็น Equal Partnership ในหลักการตลาด เมื่อเปรียบเทียบระหว่างชื่อ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นั้น ทรู คอร์ปอเรชั่น มีธุรกิจและการให้บริการเป็นที่รู้จักหลากหลายมากกว่า ทั้งธุรกิจโมบายล์ บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต โทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก และบริการดิจิทัล ขณะที่เมื่อเทียบกับ โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ซึ่งประกอบธุรกิจด้านโมบายล์ในแบรนด์ดีแทคเท่านั้น จึงไม่แปลกที่ฝ่ายบริหารทั้งสองจะเลือกใช้ชื่อ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” เป็นชื่อบริษัทที่จะจดทะเบียนขึ้นมาใหม่หลังการควบรวมสำเร็จ

นอกจากนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่บริษัทที่เป็นเจ้าของแบรนด์ ดีแทค มีการเปลี่ยนชื่อ เพราะก่อนหน้าจะเป็นบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) แบรนด์ดีแทคอยู่ภายใต้บริษัท ยูไนเต็ด คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือคนทั่วไปเรียกชื่อย่อว่า ยูคอม โดยผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นของตระกูลเบญจรงคกุล ต่อมาเมื่อกลุ่มเทเลนอร์ เข้ามา มีการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นก็มีการเปลี่ยนชื่อบริษัทจดทะเบียนเป็นบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ขณะที่แบรนด์ดีแทคยังคงใช้อยู่มาถึงปัจจจุบัน

ประเด็นที่ 3 : การเปลี่ยนชื่อบริษัทจดทะเบียนใหม่ แต่ 2 แบรนด์ ยังคงอยู่ ไม่มีแบรนด์ไหนหายไป ในทางการตลาดถือว่าไม่มีผลกระทบ ตรงกันข้ามยังจะเสริมความแข็งแกร่งให้ทั้งสองแบรนด์ อันเกิดจากการนำจุดแข็งของทั้งสองแบรนด์มารวมกัน ซึ่ง แบรนด์ทรู และ ดีแทค ยังคงแยกกันไปอีกระยะหนึ่ง หรือประมาณ 3 ปี ดังนั้นจึงไม่มีผลกระทบใดๆกับลูกค้าทั้งทรู และดีแทค ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรืองของการสื่อสารที่จำเป็นต้องอธิบายให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจในข้อเท็จจริงรวมถึงประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับเพิ่มเป็นสองเท่า

 

ขณะเดียวกัน รศ.ดร.สุชาติ ยังแสดงความเห็นว่า ภายหลังการควบรวมคนไทยจะยังเห็นแบรนด์ ทรู และ ดีแทค เหมือนเดิม ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการของ กสทช.ที่เข้มข้นต่อการกำกับดูแลการควบรวมกิจการในครั้งนี้ ภายใต้วัตถุประสงค์สำคัญคือคำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภค เพื่อทำให้มีเวลาในการเรียนรู้แบรนด์และบริการใหม่ๆ โดยไม่กระทบบริการเดิมที่ได้รับอยู่ และ มีเวลาในการทำการตลาดแบบเป็นธรรมชาติ เพราะฐานลูกค้า ทรู และ ดีแทค มีกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน และ สินค้าบริษัทก็มีไม่เท่ากัน หากมีการรวมแบรนด์ทันที จะทำให้ลูกค้าสับสน ดังนั้น ถึงแม้ว่า บริษัทใหม่ (NEW CO) จะใช้ชื่อเดียว แต่แบรนด์สินค้ายังแยกกัน

ประเด็นสำคัญ รศ.ดร.สุชาติ ยังเชื่อมั่นว่า บริษัทใหม่จากการควบรวมกิจการจะได้ประโยชน์จาก การบริหารต้นทุน การนำเสนอบริการใหม่ๆ เพราะการแยกแบรนด์ด้วยการเจาะกลุ่มลูกค้าคนละกลุ่ม จะเป็นยุทธศาสตร์ที่ทำให้ไม่สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และ ยังสามารถเดินหน้าแผนการตลาดให้เกิดความต่อเนื่องได้อีกด้วย ฉะนั้นการใช้ชื่อบริษัทเดิมมาตั้งชื่อเป็นบริษัทใหม่ ไม่ได้ผิดหลักการของการควบรวมกิจการ ทั้งในหลักกฎหมายและหลักการตลาด รวมถึง ไม่ได้กระทบต่อผู้บริโภคที่ใช้สินค้าทั้งสองแบรนด์อยู่ แต่ถ้ามองโดยละเอียดแล้ว การควบรวมกิจการที่ยังคงสองแบรนด์ไว้ กลับเป็นประโยชน์เพิ่มมากขึ้นต่อลูกค้าทั้งสองฝั่ง ทั้งการได้รับบริการที่หลากหลายจากการรวมกัน และสัญญาณมือถือที่ดีขึ้นและครอบคลุมพื้นที่การให้บริการมากขึ้นจากการรวมเครือข่ายของทั้งสองเข้าด้วยกัน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

หนุ่มค้างค่าเช่าหลักหมื่น ทิ้งขยะกองโตท่วมห้องไว้ให้เจ้าของหอดูต่างหน้า
"ศาลอุทธรณ์" ยืนโทษคุก 8 เดือน "สมบัติ ทองย้อย" อดีตการ์ดเสื้อแดง โพสต์หมิ่น "พล.อ.ประยุทธ์" 2 ข้อความ
สพฐ. ชูศึกษานิเทศก์ทั้งประเทศ กลไกขับเคลื่อน "เรียนดี มีความสุข" สร้างคุณภาพสู่ห้องเรียน
“เต้ อาชีวะ” เดือด! จัดหนัก UN ปล่อยต่างด้าวล้นรพ.รัฐ แย่งคิวคนไทย
ปัตตานีระทึก คนร้ายชักปืน จี้ "พนง.ร้านสะดวกซื้อ" ชิงเงินสด 1.2 ล้าน หนีลอยนวล
เตรียมพบเทศกาลนานาชาติ พลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2024 "จันทบุรีนครอัญมณี" ปีที่ 5 ชูเอกลักษณ์เมืองจันท์ อัญมณีอันเลื่องชื่อ
“สมศักดิ์” นำร่อง “ตู้ห่วงใย” บริการแพทย์ทางไกลเชิงรุกในชุมชน ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ 
"พงษ์ศักดิ์" ยื่นร้องกกต. ขอระงับรับรองผลเลือกตั้งนายกอบจ.ขอนแก่น ชี้พบเหตุหาเสียงส่อผิดกม.
“กฤษอนงค์” ไร้เงาคนยื่นประกัน นอนคุกคืนแรก ด้าน “บอสพอล” มอบทีมกม.ยื่นค้านประกันตัว
‘ทะเลสาบน้ำเค็ม’ โผล่กลางทะเลทรายในมองโกเลียใน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น