สืบเนื่องจากการที่ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ออกเอกสารแจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด โดยศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ มีมติอนุมัติให้ทนายความตัวแทนของบริษัทฯ เข้ายื่นคำให้การต่อศาลปกครองในคดีที่ 2 ซึ่งบริษัท BTSC ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกรุงเทพธนาคม เพื่อให้ชำระหนี้ค่าเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย เป็นจำนวนเงิน 10,600 ล้านบาท โดยอ้างว่าคำให้การ แสดงให้เห็นข้อเท็จจริง เรื่อง การจัดทำสัญญาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
1. สัญญาระหว่างบริษัทฯ กับบีทีเอสนั้น นำมาสู่ข้อพิพาทระหว่างบริษัทเอกชนด้วยกัน ไม่ได้มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง จึงไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
2. บริษัทฯ ไม่มีอำนาจเข้าทำสัญญาว่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง เพราะตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ลงวันที่ 25 ม.ค.2515 ในข้อ 4 ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการรถราง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมว.มท.) เท่านั้น เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้บุคคลใดประกอบกิจการได้ ทั้งนี้บริษัทฯ ก็ไม่เคยได้รับการอนุญาตจาก รมว.มท.
3. สัญญาจ้างที่บริษัทฯ กระทำกับบีทีเอสเป็นสัญญาที่ไม่ชอบ เพราะจงใจจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาที่ฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี ขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ ทำให้บริษัทฯ ไม่มีอำนาจนำเอางานที่รับจ้างกรุงเทพมหานครไปทำสัญญาจ้างกับบุคคลอื่นตามอำเภอใจได้
4. การที่บริษัทฯ ไปทำสัญญาว่าจ้างบีทีเอสให้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยตรง โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้เอกชนรายอื่น ย่อมส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอีกด้วย สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่ไม่ชอบ
5. การฟ้องคดีของบีทีเอสในคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะบีทีเอสทราบดีอยู่แล้ว ว่าบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ได้ด้วยตนเอง
ไม่เท่านั้น นายประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ยังระบุว่า คำให้การในคดีที่ 2 นี้ มีความสมบูรณ์กว่าในคดีแรก ซึ่งศาลได้ปิดสำนวนไปในช่วงที่ผู้บริหาร “ดังนั้นเราจึงเชื่อมั่นว่าศาลท่านจะมีข้อเท็จจริงครบถ้วนมากขึ้น ในการพิจารณาคดี ที่ 2 นี้ ส่วนผลคดีจะเป็นอย่างไรนั้น อยู่ที่อำนาจของศาล”
ล่าสุด วันนี้ ( 17 ม.ค. 2563 ) นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือรถไฟฟ้าบีทีเอส พร้อมด้วย พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ได้ร่วมแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “การทำสัญญาจ้างเดินรถ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว” ณ ห้องประชุม ชั้น G อาคารบีทีเอส สำนักงานใหญ่
โดยใจความสำคัญ ระบุ ตามที่ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที ได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนถึงข้อมูล และประเด็นของคำให้การที่กรุงเทพธนาคม จะยื่นต่อศาลปกครอง เกี่ยวกับคดีที่ 2 ที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ฟ้องให้ กรุงเทพมหานคร และกรุงเทพธนาคม ชำระค่าจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายสำหรับเดือนมิถุนายน 2564 ถึงเดือนตุลาคม 2565 เป็นจำนวนกว่า 11,000 ล้านบาท
และผู้บริหารกรุงเทพธนาคม ได้กล่าวอ้างว่า สัญญาจ้างเดินรถที่กรุงเทพธนาคม ทำกับรถไฟฟ้าบีทีเอส “เป็นสัญญาที่ไม่ชอบ” พร้อมทั้งกล่าวอ้างว่า การใช้สิทธิฟ้องคดีของ BTSC “เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะบีทีเอสทราบดีอยู่แล้วว่าบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 ได้ด้วยตนเอง แต่บีทีเอสยังสมัครใจเข้าทำสัญญากับบริษัทฯ (กล่าวคือ กรุงเทพธนาคม) ซึ่งไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าทำสัญญาได้ แล้วจึงกลับมาฟ้องบริษัท กรุงเทพธนาคมเป็นคดีนี้” นั้น
กรณีดังกล่าว นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงว่าข้อมูลที่กรุงเทพธนาคม เผยแพร่ต่อสาธารณชน เป็นข้อมูลที่ทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย จากการที่ทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย ของสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ตลอดจนทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของบริษัทฯ ต่อสาธารณชน ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าบริษัทฯ ไม่สุจริตตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย โดยรับทราบอยู่แล้วว่ากรุงเทพธนาคม ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายได้ และยังไม่สุจริตมาฟ้องกรุงเทพธนาคมเป็นคดีอีก
ดังนั้นเพื่อเป็นการปกป้องชื่อเสียง บริษัท BTSC จึงต้องอธิบายให้ประชาชนรับทราบถึงความถูกต้องในการดำเนินการของบริษัทฯ เกี่ยวกับการรับจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ว่า บริษัทฯ ไม่มีสิทธิหรือความเกี่ยวข้องใด ๆ ในกระบวนการอนุมัติและการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบและ หรือข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร และกรุงเทพธนาคม และเชื่อมั่นมาโดยตลอด ว่ากรุงเทพมหานคร และกรุงเทพธนาคม (โดยปกติจะมีคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานอัยการเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย) ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และหรือข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน และถูกต้องแล้ว