นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาและอดีตกรรมการคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.) เปิดเผยว่าการสร้างสังคมคุณภาพและปฏิรูปการศึกษา ควรผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…. ซึ่งเปรียบเสมือน “ธรรมนูญการศึกษา” ให้มีเป้าหมายร่วมสร้าง “ระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต” หรือ Lifelong Learning Ecosystem ที่จะเป็นเข็มทิศนำทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการสานพลังความร่วมมือทางสังคม ในการสร้างเด็กและเยาวชนไทยให้มีจิตใจใฝ่เรียนรู้ มีวินัย ภาคภูมิใจในความเป็นชาติ และมีทักษะตามความถนัดของตัวเอง เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนจากนั้นจึงนำไปขยายผลเชิงนโยบายและภาคปฏิบัติ โดยไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดปลีกย่อยในกฎหมายพื้นฐาน (Basic Law) ด้านการศึกษา ดังนั้นการเขียนกฎหมายการศึกษาต้องก้าวข้ามการเมือง เพราะโดยเนื้อแท้ของกฎหมายภาครัฐไม่ควรผูกขาดการจัดการศึกษาเพียงฝ่ายเดียว เพราะการศึกษาเป็นเรื่องทางสังคม ทุกภาคส่วนในสังคมต้องกรูกันเข้ามามีส่วนร่วม
นายปกรณ์ กล่าวว่าต้นแบบธรรมนูญการศึกษา คือ ประเทศญี่ปุ่นมีกฎหมายพื้นฐานด้านการศึกษา วางเป้าหมายและวัตถุประสงค์ไว้ชัดเจน คือ ผลิตทรัพยากรมนุษย์ให้เป็น “พลเมืองที่ดีของโลก” ที่มีทัศนคติรักความสงบสันติไม่ต้องการสงครามอยู่ร่วมกันอย่างฉันทมิตร และ ขอยกตัวอย่าง การสานพลังความร่วมมือทางสังคมเพื่อสร้าง Lifelong Learning Ecosystem ด้วยการเปิดพื้นที่เรียนรู้ เรื่อง ตำนานและวิวัฒนาการของ “อันโดะ โมโมฟุคุ” ผู้ให้กำเนิดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป NISSIN แท้จริง คือ นักประดิษฐ์คนสำคัญคนหนึ่งของญี่ปุ่น หรือ TAMIYA เป็นผู้ผลิตโมเดลรถของเล่นเปิดพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียนแก่เด็กได้เข้าไปฝึกประดิษฐ์และประกอบรถของเล่นคล้าย ๆ การต่อเลโก้ ซึ่งเป็นการเสริมทักษะพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้กลไกเครื่องยนต์ อาจนำไปสู่ปลูกถ่ายแรงบันดาลใจหรือความหลงใหล (passion) หรือสานต่อความฝันให้เด็กก้าวไปสู่การเป็นนักประดิษฐ์หรือวิศวกรในอนาคต
นอกจากนี้ การสลายปัญหาการศึกษาไทย ต้องเริ่มต้นที่ 1. การสร้างสถาบันครอบให้เข้มแข็ง พ่อแม่ต้องเป็นเบ้าหลอมที่ดีแก่ลูกให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีคุณภาพ ผ่านการถ่ายทอดตัวตนของตัวเองไปสู่ลูก แต่ปัจจุบับต้องยอมรับว่าพ่อแม่บางส่วนโดยเฉพาะ “คนในเมือง” ที่เป็นครอบครัวเดี่ยวมักจะปล่อยให้คนอื่นเลี้ยงดูแลลูกของตัวเอง ขณะที่ตัวเองต้องออกไปทำงานจึงไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ นี่คือต้นเหตุของปัญหาช่องว่างระหว่างวัย หรือ Generation Gap ทำให้ความคิดความอ่านและความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ระหว่างคนสองรุ่นแตกต่างกันจนกลายเป็นความขัดแย้งภายในครอบครัวและสังคม เพราะพ่อแม่มิได้เป็นเบ้าหลอมที่ดีต่อลูกปล่อยให้ลูกเติบโตไปตามยถากรรม ขณะที่ “คนในชนบท” ยังคงรักษาความเป็นครอบครัวขยาย สถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็ง เพราะปู่ย่าตายายเลี้ยงดูลูกหลานของตัวเอง สามารถถ่ายถอดรากเหง้าและความเป็นตัวตนของตัวเองสู่คนรุ่นถัดไปได้ จึงยังได้เห็นเด็กต่างจังหวัดมีค่านิยมเรื่องวัฒนธรรมไทยได้อย่างเหนียวแน่นกว่าเด็กในเมือง
2.คนไทยคาดหวังระบบการศึกษาสูงเกินไป นับเป็นตรรกะและค่านิยมแบบผิด ๆ เพราะถ้าสถาบันครอบครัวไม่สามารถเป็นเบ้าหลอมที่ดีแก่เด็กได้ การได้รับการศึกษาจากโรงเรียนที่มีชื่อเสียงระหว่างโรงเรียนอินเตอร์ หรือ โรงเรียนเทศบาล ไม่สามารถการันตีได้ว่าเด็กคนนั้นเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ แต่ถ้าหากพื้นฐานสถาบันครอบครัวดี เด็กจะเติบโตมาดี ดังนั้นการสร้างสังคมคุณภาพต้องเริ่มต้นที่การสร้างสถาบันครอบครัวคุณภาพ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาและความต่อเนื่อง เนื่องจากการสร้างคนที่ดีมีคุณภาพไม่ใช่สร้างได้ง่ายเหมือนผลิตสินค้าจากโรงงานด้วยแม่พิมพ์บล็อกเดียวกัน และ 3.ระบบการศึกษาไทยยังมุ่งเน้นการท่องจำมากกว่าการคิดวิเคราะห์ และ ไม่ได้บ่มเพาะเด็กและเยาวชนให้เติบโตตามความงดงามในตัวเอง ดังนั้นโรงเรียนและครูต้องมีความพร้อมที่จะสามารถขัดเกลาเด็กให้เติบโตตามความถนัด
/-/-/