รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นโต้โผนำทีมเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ฝังทำลายชิ้นส่วนหมูเถื่อนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย หรือกว่า 700,000 กิโลกรัมที่ จ.เพชรบุรี เป็นปรากฏการณ์ที่ต้องยกนิ้วชื่นชม เพราะบ่งบอกว่าเจ้ากระทรวงใส่ใจและให้ความสำคัญจนทำให้ลูกน้องในสังกัดสามารถโชว์ผลงานตรวจจับหมูเถื่อนจำนวนมหาศาลได้ขนาดนี้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำงานร่วมกันด้วย
จากข้อมูลในปี 2565 ภาครัฐจับกุมหมูเถื่อนได้ทั้งสิ้น 1,089,514 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 219 ล้านบาท โดยซากหมูเถื่อนที่ถูกฝังทำลายครั้งประวัติศาสตร์ไปเมื่อวันก่อนเป็นแค่เพียงส่วนเดียว เพราะก่อนหน้านี้ทำลายไปแล้ว 179,612 กิโลกรัม และยังอยู่ระหว่างดำเนินคดีอีก 186,116 กิโลกรัม …. เห็นตัวเลขมหาศาลกว่าล้านกิโลกรัมขนาดนี้ ถึงกับต้องกุมขมับ ไม่รู้ว่ามันรอดสายตาเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ด่านหน้าดูแลสินค้าก่อนเข้าสู่ราชอาณาจักรไทยมาได้อย่างไร ทำราวกับว่าเครื่อง X-ray สแกนวัตถุแปลกปลอมหรือวัตถุอันตราย คงจะเสียหรือใช้การไม่ได้ชั่วคราวเมื่อตู้คอนเทนเนอร์หมูเถื่อนมาถึงท่าเรือไทย
ระหว่างปี 2565 ได้เห็นความกระตือรือล้นเกิดขึ้นในฝั่งของกรมปศุสัตว์อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการประกาศสงครามกับหมูเถื่อน การโยกย้ายข้าราชการเพื่อปรับปรุงการทำงานรับมือขบวนการนี้ ตัวเลขผลงานแถลงออกมาเป็นระยะๆ จนเป็นที่ประจักษ์ ขณะที่อีกกรมกลับไม่แอ็คทีฟเท่าที่ควร ทั้งๆที่เป็นตัวแปรสำคัญในการจะปล่อยผ่านหรือขัดขวางขบวนการนี้ก่อนเข่าสู่ราชอาณาจักรไทย กระทั่งทำให้พบหมูเถื่อนจำนวนมหาศาลในประเทศเรา
สภาพของหมูเถื่อนในวันประวัติศาสตร์นั้น ส่วนใหญ่เป็นหมูแช่แข็งที่มีต้นทางมาจากประเทศแถบอเมริกาใต้ อาทิ บราซิล อาเจนติน่า ซึ่งใช้สารเร่งเนื้อแดงได้อย่างเสรี รวมถึงมาจากประเทศแถบยุโรปที่กำลังมีการระบาดของโรค ASF เช่น เยอรมัน (เป็นเชื้อโรคที่มีอายุยืนยาวอยู่ได้แม้ในอุณหภูมิแช่แข็ง) แตกต่างจากหมูอีกส่วนหนึ่งที่ลักลอบเข้ามาเป็นกองทัพมด ผ่านทางตะเข็บชายแดน หมูแช่แข็งต้องรักษาอุณหภูมิในตู้คอนเทนเนอร์ จึงยืนยันได้ว่ามันต้องบรรทุกใส่เรือเดินทะเลเข้ามา มุ่งหน้า “ท่าเรือแหลมฉบัง” ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางเรือของไทย ก่อนจะนำไปฝากแช่ในห้องเย็นต่างๆ รอระบายออกสู่ตลาดต่อไป เป็นใครก็คงแปลกใจว่าก่อนหมูเถื่อนจะถึงห้องเย็นนั้น ผ่านท่าเรือ ผ่านถนนหลวง และผ่านการตรวจสอบมาอย่างไร
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ ถึงกับตั้งข้อสังเกตว่าหมูเถื่อนทะลักเข้ามามากมาย แค่เท่าที่จับได้ก็ล้านกว่ากิโลกรัม ส่วนที่จับไมได้จะมากมายขนาดไหน เรียกได้ว่าผู้บงการที่อยู่เบื้องหลังน่าจะมีอิทธิพลพอควรทีเดียว จึงเป็นที่มาที่ต้องชื่นชมการทำงานของกรมปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่ทุกท่านอย่างมากที่กล้ากวาดล้างและรักษาไว้ซึ่งกฏหมายบ้านเมือง ปกป้องทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากผลกระทบมากมายของหมูเถื่อน เชื่อว่าหากขยายผลอีกไม่นานคงได้เห็นหน้า “ผู้มีอิทธิพล” คนดังกล่าว
ความหวังของเกษตรกรและผู้บริโภค จึงอยู่ที่ผู้นำระดับรัฐมนตรีว่าการฯ หรือนายกรัฐมนตรี ที่จะสนับสนุนการกวาดล้างหมูเถื่อนต่อเนื่องอย่างเต็มที่ เป้าหมายเพื่อสาวให้ถึง “ผู้บงการ” ซึ่งน่าจะทำให้ได้คำตอบว่าทำไมบางหน่วยงานรัฐจึงเฉื่อยชาเพิกเฉยจนน่าแปลกใจ
โดย สามารถ สิริรัมย์