“นายกฯ” สั่งแถลงคืบคดีดัง ยันไม่ปกป้องใคร ตามเข้มสลากออนไลน์

"นายกฯ" สั่งแถลงคืบคดีดัง ยันไม่ปกป้องใคร ตามเข้มสลากออนไลน์

วันนี้ (20 มกราคม 2566) เวลา 14.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พลตำรวจตรี อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษกกระทรวงยุติธรรม และนายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงข่าวความคืบหน้าตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในการตรวจสอบเหตุการณ์และการกระทำผิดกฎหมายที่เป็นเรื่องสำคัญอยู่ในความสนใจของประชาชน สรุปสาระสำคัญดังนี้

ข่าวที่น่าสนใจ

1. พลตำรวจตรี อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงกรณีความคืบหน้าคดีเครือข่ายธุรกิจกลุ่มทุนจีนสีเทา ว่า จากกรณีที่เกิดเหตุเมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 26 ต.ค. 65 ชุดสืบสวนของกองบัญชการตำรวจนครบาล (บชน.) ได้นำหมายเข้าตรวจค้นอาคารจินหลิง ผลการตรวจค้นสามารถจับกุมผู้ต้องหาเป็นต่างด้าว พบของกลางเป็นยาเสพติด จึงได้ดำเนินคดีในเรื่องของการมีเสพยาเสพติด ทำให้เป็นคดีที่มีการจับกุมผู้ต้องหาเป็นจำนวนมาก ซึ่งคดีดังกล่าวเป็นที่สนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก นายกรัฐมนตรีจึงได้กำชับไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ดำเนินคดีนี้อย่างตรงไปตรงมา หาผู้กระทำผิด รวมถึงผู้หลบหนี รวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจน และดำเนินคดีกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่สำคัญของประเทศ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงแต่งตั้งให้ ผบช.น. เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนในคดีนี้ทั้งหมด ทำให้วันที่ 22 พ.ย. 65 พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลฯ ออกหมายจับนายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ หรือ ตู้ห่าว และนายเฉิน หยาง ในความผิดฐานสมคบและร่วมกันจำหน่ายยาเสพติด ในการดำเนินคดีได้มีการรวบรวมพยานหลักฐาน รายงานผลการสืบสวนสอบสวน ขยายผลออกหมายจับผู้ต้องหา เพิ่ม 15 ราย และ 12 ราย ตามลำดับ ข้อหาสมคบค้ายาเสพติด ต่อมา หลังจากที่ได้มีการประชุมสรุปสำนวน วันที่ 13 ม.ค. 66 ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ผู้รับผิดชอบ ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด วันที่ 18 ม.ค. 66 อัยการสูงสุดมีความเห็น สั่งฟ้อง “ตู้ห่าว” และพวกรวม 41 คน ในความผิด 9 ข้อหา โดยมีรายละเอียด คือ มีผู้ต้องหาทั้งสิ้น 117 ราย (รวมคดีเสพฯ) จับกุมแล้ว 97 ราย หลบหนี 20 ราย ศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว 76 ราย สอบสวนพยานบุคล 444 ปาก พยานเอกสาร และพยานนิติวิทยาศาสตร์ประกอบสำนวน 26,892 แผ่น สืบพยานล่วงหน้า 20 ปาก และมีการตรวจยึดทรัพย์สินแล้ว 5,345 ล้านบาท และวันที่ 19 ม.ค. 66 อัยการสูงสุดมอบหมายอัยการนำคำฟ้อง 332 หน้า ยื่นฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้

คดีนี้เป็นคดีที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสำคัญ นายกรัฐมนตรีจึงได้กำชับอย่างต่อเนื่องว่า หากสืบแล้วผู้ใดมีความผิด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่น ๆ ให้ดำเนินคดีและลงโทษทางวินัยไม่มีข้อยกเว้น ส่งผลให้มีการดำเนินการสืบสวนสอบสวน จนพบว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นจำนวนทั้งสิ้น 6 นาย จึงได้มีการแจ้งความดำเนินคดีอาญา ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง และต่อมาได้มีการให้ออกจากราชการ ในส่วนภาพรวมของคดี ตั้งแต่เริ่มต้นจับกุม จนถึงสรุปการสอบสวน ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 เดือน มีความคืบหน้ามาอย่างต่อเนื่อง สามารถขยายผลจับกุมดำเนินคดีกับผู้ร่วมกระทำผิดทุกราย ทำคดีในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง ขอให้พี่น้องประชาชนเชื่อมั่น มั่นใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ร่วมกันทำคดีนี้อย่างเต็มความสามารถ หากพบผู้เกี่ยวข้องหรือมีข้อมูลเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยจะเสนอให้พนักงานอัยการมีความเห็นให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่เว้นแม้แต่รายเดียว

2. นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษกกระทรวงยุติธรรม ได้ชี้แจงกรณีการบุกตรวจค้นบ้านพักรับรองของสถานกงสุลนาอูรู สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ได้ออกหมายจับกลุ่มบุคคล โดยมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์รักษาความปลอดภัยและบุคคลภายนอก รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมอยู่ในหมายจับนั้นด้วย ซึ่งความคืบหน้าขณะนี้มีการมอบตัว พร้อมกับดำเนินการสอบสวนเพื่อทำการสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องต่อไป ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีการขยายผลในกรณีดังกล่าวพบบุคคลใกล้ชิดกับนายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องของการประสานงาน เนื่องจากข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีต้องดำเนินการให้เกิดความโปร่งใส นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงได้มีคำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 24/2566 เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 66 มอบหมายให้นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และย้าย พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และให้รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเป็นการโยกย้ายตามความเหมาะสมเพื่อให้การปฏิบัติงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรมยังได้เร่งรัดให้แสดงความชัดเจนของคดีที่เป็นความสนใจของสังคม รวมถึงปัญหา ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ต้องมีการรายงานความคืบหน้าให้กับประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องต่อไป

3. นายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงถึงความคืบหน้าการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการรับผลประโยชน์และการทุจริตคอร์รัปชันกรณีเหตุ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.65 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.)  และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ นำกำลังจับกุมนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่า การดำเนินการเรื่องดังกล่าวแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1) ในคดีอาญา ป.ป.ช. จะเป็นหน่วยงานดำเนินการสืบสวนสอบสวนและฟ้องศาล และ 2) ในส่วนที่เกี่ยวข้องทางวินัย ข้อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการ โดยเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นในวันที่ 27 ต.ค. 65 นั้น ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกคำสั่งทันทีในวันนั้น เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยมีรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายกุศล โชติรัตน์) เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งในวันที่ 28 ต.ค. 66 ก็ได้มีการประชุมคณะกรรมการฯ โดยทันทีเพื่อดำเนินการสอบสวนสืบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้ได้ข้อสรุป ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและโปร่งใสกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการฯ จึงเสนอให้กระทรวงทรัพยากรฯ ออกคำสั่งให้มาช่วยราชการที่กระทรวงฯ แต่สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้มาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี

สำหรับกรอบเวลาในการสืบสวนให้เวลา 7 วัน โดยคณะกรรมการฯ ได้มีการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ และเชิญอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ในฐานะผู้ร้อง มาสอบถามข้อเท็จจริงด้วย รวมถึงได้ขอเอกสารการจับกุมไปยัง บก.ปปป. เมื่อได้ข้อมูลดังกล่าวแล้วได้สรุปข้อมูลทั้งหมดไปยังปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการสอบสวนเบื้องต้นพบว่ามีมูลกระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ดังนั้น ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงมีคำสั่ง (4 ม.ค.66) แต่งตั้งคณะกรรมการสอบทางวินัยเพื่อเอาผิดทางวินัยร้ายแรงแล้ว ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยขณะนี้การดำเนินการสอบสวนทางวินัยก็มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และได้มีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลและถ้อยคำเพิ่มเติมอย่างเนื่องเพราะไปเกี่ยวข้องกับหลายส่วนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมย้ำว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแดวล้อม รวมทั้งผู้บริหารของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ให้นโยบายการทำงานกับคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดว่าให้ทำงานอย่างอิสระ ไม่ต้องกลัวใคร ตรงไปตรงมา เจออะไรก็ให้ดำเนินการไปตามระเบียบหน้าที่ สอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ให้ดำเนินการทุกอย่างตรงไปตรงมา ขณะนี้นายรัชฎาฯ  ก็มาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด สามารถที่จะดำเนินการได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาแทรกแซง ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังกำชับหากพบว่าใครเข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ให้ดำเนินการไปตามระเบียบ อำนาจหน้าที่ได้ จึงขอให้สื่อมวลชนและประชาชนมั่นใจและสบายใจในกระบวนการดำเนินการครั้งนี้ ที่จะดำเนินการอย่างเต็มที่ให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

นายอนุชาฯ กล่าวในตอนท้ายของการแถลงข่าวว่า นอกจาก 3 คดีนี้แล้ว ยังมีคดีอื่น ๆ ที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ และมีข้อสั่งการให้รายงานผลความคืบหน้าของการดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่าง ๆ ด้วย เช่น กรณีการตรวจสอบธุรกิจการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของเอกชน ซึ่งเป็นอีกคดีที่นายกรัฐมนตรีให้ความสนใจ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการและจะได้มีการรายงานเข้ามา ยืนยันว่านายกรัฐมนตรีไม่มีความประสงค์ที่จะปกป้องความผิดของผู้ใดเลยในแต่ละคดี และต้องการให้เจ้าหน้าที่มีโอกาสสืบสวนหาข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ด้วยความโปร่งใส ไม่มีการแทรกแซง เพื่อให้เกิดความกระจ่างในทุก ๆ ประเด็นในสังคม ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่นายกรัฐมนตรีนำมาเป็นข้อปฏิบัติตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คือเรื่องความตั้งในในการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชันในทุกแวดวง โดยนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการมาโดยตลอดในโอกาสประชุมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ว่า การดำเนินงานของข้าราชการต้องมีความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ในทุกกรณี นอกจากนี้ จะมีการรายงานคดีอื่น ๆ ให้สื่อมวลชนและพี่น้องประชาชนได้ทราบความคืบหน้าต่าง ๆ เพื่อชี้แจงให้สังคมได้เข้าใจตรงกันถึงความตั้งใจและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ทิพยประกันภัย จับมือ NT ลงนาม MOU พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ายุคดิจิทัล
กรมวิทย์ฯ บริการ มอบของขวัญปีใหม่ประชาชน 2568 ..ฟรี !! ฝึกอบรมเสริมทักษะด้าน วทน. ฟรีค่าธรรมเนียมยื่นขอการรับรองทุกขอบข่าย เสริมความสามารถของห้องปฏิบัติการไทยสู่สากล
"ณเดชน์-เบลล่า" ขึ้นแท่นดาราแห่งปี "หมูเด้ง" ข่าวเด่นแห่งปีของจริงกลบทุกกระแส
เซเว่นฯ เดินหน้านโยบาย “2 ลด ลดพลาสติก ลดพลังงาน" เพื่อสิ่งแวดล้อม 24 ชม. เชิญชวนคนไทย ลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
“ภูมิธรรม”คาด 4 ลูกเรือไทยได้รับการปล่อยตัว 4 ม.ค. นี้ ยืนยันกลาโหม-กองทัพไม่ได้อ่อนแอ
ฮาร์บินเปิด ‘สวนสนุกน้ำแข็ง-หิมะ’ จีนใหญ่สุดในโลก
ทรัมป์เสนอยูเครนสละดินแดนเพื่อยุติสงคราม
โฆษกกห. ยัน ไม่ได้ปิดด่านชายแดนจังหวัดตาก แค่สกัดโรค อุดช่องทางธรรมชาติ
“พิพัฒน์” ลุยปฏิรูป “ก.แรงงาน” ก้าวใหม่สู่ยุค AI สร้างทักษะพัฒนาฝีมือ ดูแลสวัสดิการทุกมิติ
"สรรเพชญ" พร้อมกลุ่มสส.ร่วม "ชวน-บัญญัติ" ส่งหนังสือเร่งรัฐ เยียวยาน้ำท่วมทำใต้วิปโยค

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น