ปกรณ์ นิลประพันธ์
ปรัชญาพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือ “การใช้เหตุผล” ผลพวงที่ตามมาคือสังคมประชาธิปไตยนั้นเรียกร้องให้มีพื้นที่ให้พูดจาหารือกันก็เพื่อให้ผู้คนจากภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมได้พูดจาหารือ หรือทำความเข้าใจร่วมกันเพื่อให้ได้ “ข้อยุติอันเป็นที่ยอมรับร่วมกัน” ของคนส่วนใหญ่ในประเด็นต่าง ๆ โดยเมื่อสังคมยังมีคนน้อย ๆ ทุกคนก็มีโอกาสแสดงความคิดเห็นด้วยตนเอง แต่พอคนมากเข้า ก็มีการเลือกตัวแทนหรือผู้แทนของแต่ละพื้นที่หรือแต่ละภาคส่วนมาแสดงความคิดเห็นแทน ซึ่งก็เป็นที่มาของการเลือกผู้แทน
การมองประชาธิปไตยจึงมองได้ทั้งในแง่แบบพิธี หรือมีการเลือกผู้แทน นั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่ประชาธิปไตยในแง่เนื้อหานั้น นอกจากจะหมายถึง “การเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง” แล้ว ข้อสำคัญอย่างยิ่งยวดก็คือบรรดาความคิดเห็นที่แสดงกันออกมานั้นต้อง “มีเหตุผล”
ดังนี้ สังคมประชาธิปไตยจึงต้องเป็น “สังคมแห่งความรู้” เพราะต้องพูดจาหารือกันด้วยเหตุผล คิดถึงเป้าหมายส่วนรวมหรือประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ ไม่ใช่ “สังคมแห่งความเชื่อ” ที่เอาแต่เรื่องที่ต่างคนต่างเชื่อมาพูดกัน เนื่องจากความเชื่อของแต่ละคนนั้นไม่ได้เกิดจากความรู้ แต่เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นของตน หรือความรัก โลภ โกรธ หลง อันเป็นอคติ ซึ่งแต่ละคนก็จะนึกถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัวหรือของพรรคพวกตัว
อย่างไรก็ดี การสร้างสังคมแห่งความรู้นั้นยากกว่าการสร้างความเชื่อมากมายนัก เพราะกว่าจะได้มาซึ่งความรู้ต้องมีการตั้งคำถาม มีการแสวงหาคำตอบอย่างมีเหตุผล ต้องอ่านตำรับตำราต้องทดลองทดสอบมากมาย ต้องคิดวิเคราะห์ กว่าจะสรุปได้ แต่การสร้างความเชื่อง่ายกว่านั้นมาก เพราะเป็นการเล่นกับ “อารมณ์” หรือ “จริต” ของคนที่ไม่มีความรู้หรือคนซึ่งไม่รู้ การชวนเชื่อจึงไม่จำเป็นต้องมีความรู้อะไรเลย และยิ่งคนในสังคมมีความรู้จำกัดมากเท่าไร การสร้างความเชื่อยิ่งง่ายมากขึ้นเท่านั้น
อย่างเมื่อมีการพูดถึงการปฏิวัติของชาวฝรั่งเศส ก็จะกล่าวถึงเฉพาะแต่สถานการณ์ที่ย่ำแย่ลำเค็ญสมัยพระเจ้าหลุยส์ ที่ 16 เท่านั้น แต่กลับไม่มีใครพูดถึงถึงความยิ่งใหญ่และสมบูรณ์พูนสุขของฝรั่งเศสสมัยพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 หรือก่อนหน้านั้นเลย และแทบจะไม่มีการร้อยเรียงต่อไปเลยว่า 10 ปี 6 เดือนเศษต่อมาอันเป็นจุดสิ้นสุดยุคแห่งการปฏิวัติในครั้งกระนั้น สถานการณ์บ้านเมืองของฝรั่งเศส “มืด” ขนาดไหนและเป็นเพราะอะไร ทั้ง ๆ ที่มีตำรับตำราให้อ่านกันมากมายเพียงแต่เป็นภาษาต่างประเทศเท่านั้น
การเลือกที่จะนำเพียงบางช่วงบางตอนของประวัติศาสตร์มานำเสนอราวกับเป็นจุดเริ่มต้นของความรุ่งเรืองรองผ่องใส จึงไม่น่าจะสอดคล้องกับปรัชญาพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยดังกล่าวข้างต้น เพราะไม่ใช่การสร้างความรู้ แต่เป็นการสร้างความเชื่อให้แก่คนซึ่งไม่รู้
การเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของคนไม่รู้โดยใช้กิโยตินเป็นองค์ประกอบเรื่อง ก็เป็นอีกประการหนึ่งที่อาจจะทำให้ผู้ฟังเร้าใจ ทั้งที่จริงแล้วอุปกรณ์นั้นเป็นตัวแทนของความเกลียดชังและความทารุณโหดร้าย ซึ่งปัจจุบันสากลก็ถือว่าการใช้กิโยตินนั้นป่าเถื่อนอย่างยิ่ง และไปไกลถึงขนาดเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตกันทั่วโลกกันแล้ว
การสร้างสังคมแห่งความรู้นั้นต้องใช้คนมีความรู้อย่างแท้จริงเป็นผู้สอน ผู้เรียนจึงจะได้ความรู้อย่างแท้จริงสืบต่อไป ถ้าให้คนซึ่งรู้เป็นท่อน ๆ จำมาเป็นตอน ๆ มาเป็นผู้สอน ก็จะได้ความรู้กระท่อนกระแท่นต่อ ๆ กันไป และถ้าผสมความเชื่อหรือมโนภาพของตนเข้าไปในการสอนด้วย ผู้เรียนก็จะซึมซับ “ความเชื่อ” ของผู้สอนไปด้วย ยิ่งถ้าผู้รับสารไม่มีการค้นคว้า หาคำตอบหรือความรู้เพิ่มเติม ก็จะกลายเป็นผู้ถูกขัดเกลาโดยความเชื่อของผู้ส่งสารไปอย่างน่าสงสาร
การอ้างตำราคลาสสิคอย่างพลาโต โซคราเตส อริสโตเติล เป็นอาทิ ในการสอน ผู้สอนก็ควรได้อ่านต้นฉบับเต็ม ๆ ของเอกสารนั้น รวมทั้งต้องเข้าใจบริบทของยุคสมัยด้วย ไม่ใช่อ่านแต่ secondary source ที่อ้างถึงบางท่อนบางตอนหรือบางประโยค แล้วนำมาขยายต่อเองด้วยจินตนาการ
การสร้างสังคมแห่งความรู้นั้นตำรับตำราต้องพร้อมให้เข้าถึง ผู้สอนหรือผู้พูดต้องมีความรู้อย่างแท้จริง ศึกษาหาความรู้ในเรื่องที่ไม่รู้ต่อเนื่อง เพราะการเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น และสอนหรือพูดโดยใช้เหตุและผล ไม่ใช่ความเชื่อส่วนตัว ผู้เรียนหรือผู้ฟังต้องรู้จักตั้งคำถามและค้นหาคำตอบ ไม่ใช่สักแต่ว่าเชื่อ
พระสัมมาสัมพุทธะทรงวางหลักการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ไว้กว่าสองพันปีแล้วใน “กาลามสูตร” ความว่า
-มา อนุสฺสวเนน : อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะฟังต่อ ๆ กันมา
-มา ปรมฺปราย : อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะถือสืบ ๆ กันมา
-มา อิติกิราย : อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะเขาเล่าลือกันมา
-มา ปิฏกสมฺปทาเนน : อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะเขาอ้างตำราหรือคัมภีร์
-มา ตกฺกเหตุ : อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะคิดเอาเอง
-มา นยเหตุ : อย่าปลงใจเชื่อโดยนำเรื่องนั้นเรื่องนี้มาปะติดปะต่อกัน
-มา อาการปริวิตกฺเกน : อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะลักษณะอาการที่แสดงออกมาน่าจะเป็นไปได้ หรือเพียงเห็นด้วยตา หรือเพียงได้ยินกับหู เนื่องจากเรื่องราวหนึ่งนั้นมีอะไรมากกว่าเพียงที่เห็นหรือที่ได้ยินมา
– มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา : อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะเข้ากันได้จริตหรืออคติในใจตน
-มา ภพฺพรูปตา : อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะผู้พูดแลดูน่าเชื่อถือ
-มา สมโณ โน ครูติ : อย่าปลงใจเชื่อเพียงเพราะเป็นครูของเรา หรือเป็นคนที่เรานับถือ
เอวังก็มีด้วยกาลฉะนี้.