ถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ กับรูปแบบการค้าสลากฯผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่มีการบวกค่าบริการเพิ่มเข้าไปอีกใบละ 20-25 บาท รวมถึงยังใช้เงินทุนที่มีข้อคำถามมากมาย นำมาจากไหนงวดละกว่าพันล้าน ไปกว้านซื้อมาสต็อกขายภายใต้ชื่อแบรนด์ “กองสลากพลัส” จำนวน 10-14 ล้านใบ เปิดขายให้กับบุคคลทั่วไป โดยเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ไม่สามาระงับยับยั้งการกระทำผิดใด ๆ ได้
ล่าสุด รายงานข่าวจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ระบุว่า สำหรับขั้นตอนการระงับสิทธิ์การเข้าถึงสลากฯของผู้ค้า สำนักงานสลากฯ อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการตรวจสอบ เพื่อดำเนินการยกเลิกสัญญา หรือ สิทธิการเป็นผู้ซื้อจอง-ล่วงหน้าฯ เนื่องจากกระบวนการได้มาซึ่งสลากฯแล้วนำไปขายต่อให้กับบริษัทเอกชนรายหนึ่งรายใด เป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามสัญญาและหลักเกณฑ์ในการรับสลากฯไปจำหน่าย ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องขายสลากฯด้วยตนเอง และไม่ขายสลากฯเกินราคาที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย คือ 80 บาท รวมถึงไม่นำสลากฯของตนไปขายให้แก่ผู้อื่นเพื่อนำไปรวมชุด หรือแลกเปลี่ยนสลากฯกับผู้อื่น
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการสลากฯ เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2566 เห็นชอบแนวทางการเพิ่มจำนวนสลากดิจิทัล ผ่านแอพพลิเคชันเป๋าตัง ในปี 2566 เป็น 30 ล้านใบ / ปี 2567 ขยับเป็น 40 ล้านใบ และปี 2568 มีตัวเลขสูงสุด 50 ล้านใบ แต่กระบวนการเหล่านั้นอาจเร็วขึ้นได้ หากผู้มีโควตาขอเข้ามาขายสลากดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น และรูปแบบการขายสลากฯผ่านออนไลน์ของสำนักงานสลากฯได้รับการตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่องจากผู้ซื้อ โดยช่วงที่ผ่านมามีผู้ให้ความสนใจมากขึ้น เพราะได้ราคาขายที่เป็นธรรม และจากประชาสัมพันธ์การถูกรางวัลสลากดิจิทัล
ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่าวิธีการเพิ่มสลากดิจิทัลของสำนักงานสลากฯ จะมาจากการตัดโควตา ผู้ค้าสลากที่ไม่ทำตามสัญญา แล้วนำสลากฯจำนวนดังกล่าว เข้าสู่ระบบการขายแพลทฟอร์มดิจิทัล รวมถึงสำนักงานฯ จะกำหนดกติกาใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2566 โดยให้ผู้ที่มีสิทธิ์ซื้อ-จอง ลดจำนวนลงจาก 5 เล่มเหลือ 3 เล่ม เพื่อให้เพียงพอต่อผู้ที่มากดซื้อ-จอง ครอบคลุมมากขึ้น แต่ถ้าหากเห็นว่า 3 เล่มไม่เพียงพอ ผู้มีสิทธิ์สามารถเข้าร่วมระบบสมัครใจขายสลากดิจิทัล จะได้ 5 เล่ม เหมือนเดิม เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ปัญหาสลากเกินราคาเบื้องต้น