ทำความรู้จัก "เม่นหมวกกันน็อค" หรือเม่นหมวกเหล็ก บางทีรู้จักกันในชื่อ หอยเม่นกระเบื้องมุงหลังคา สัตว์ทะเลหายากในประเทศไทย
ข่าวที่น่าสนใจ
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ให้ความรู้ประชาชน ชวนทำความรู้สิ่งมีชีวิตในทะเลหายากในไทย อย่างเม่นทะเล “เม่นหมวกกันน็อค” หรือเม่นหมวกเหล็ก บางทีรู้จักกันในชื่อ หอยเม่นกระเบื้องมุงหลังคา กับภาพลักษณ์แปลกตา ไม่มีขนหนามอันเป็นเอกลักษณ์อีกต่อไป
เพราะ เม่นชนิดนี้เป็นเม่นทะเล ที่จัดเป็นสัตว์ในกลุ่มผิวลำตัวเป็นหนาม (Echinoderm) เช่นเดียวกับ
- ดาวทะเล
- ดาวขนนก
- ดาวเปราะ
- ปลิงทะเล
จัดเป็นสัตว์ทะเลหายากในประเทศไทย
มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Colobocentrotus atratus รูปลักษณะที่แตกต่างจาก หอยเม่นทั่วไปก็คือ
- เนื้อตัวที่เกลี้ยงเกลาดุจมุงด้วยกระเบื้อง
- ไร้ซึ่งหนามแหลมแม้แต่อันเดียว
เพราะว่า หอยเม่น หมวกกันน็อคปรับตัวให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่อาศัยเนื่องจากถิ่นที่อยู่ของพวกมันมีคลื่นลมรุนแรง ทำให้มีนักล่าน้อยนักที่จะเข้าถึงตัวพวกมันได้ ประกอบกับการที่อยู่ในพื้นที่มีคลื่นลมรุนแรง หนามแหลมอาจทำให้พวกมันถูกซัดหลุดจากโขดหินที่อยู่อาศัย และเมื่อไม่มีผู้ล่าหนามแหลมที่ใช้ป้องกันตัวจึงหมดความจำเป็นไป
ถิ่นอาศัย
- สามารถพบได้ทั่วไปในเขต อินโด-แปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย
- ในประเทศไทยจะพบได้ยากมาก
- จากงานวิจัยเกี่ยวกับการทดสอบแรงยึดเกาะของเม่นหมวก กันน็อค Santos & Flammang (2007) พบว่า เม่นหมวก กันน็อคสามารถต้านทานแรงปะทะคลื่นได้ตั้งแต่ความเร็ว 17.5 เมตรต่อวินาที ไปจนถึง 27.5 เมตรต่อวินาที
- หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพความเร็ว 27.5 เมตร/วินาที ซึ่งเป็นแรงที่สามารถถอนต้นไม้ได้ทั้งต้นเลยทีเดียว
เม่นหมวก กันน็อคพบครั้งแรกในปี 2530 โดย ดร.สมชัย บุศราวิช จากโครงการ First PMBC/DANIDA Training course and workshop on taxonomy, biology and ecology of echinoderms และมีรายงานการพบครั้งล่าสุดในปี 2547 โดย ดร.สุเมตต์ ปุจฉาการ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา ในรายงาน Putchakarn.S and Sonchaeng.P (2004). Echinoderm Fauna of Thailand: History and Inventory Reviews. ScienceAsia 30 (2004): 417-428 ซึ่งทั้ง 2 ครั้งพบที่เกาะราชา จ.ภูเก็ต
ข้อมูล : อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ – Mu Ko Surin National Park
ข่าวที่เกี่ยวข้อง