กรมทะเลฯ เผยข่าวเศร้า พบ "พะยูน" เกยตื้น ดับเพิ่มอีกตัว ที่เกาะลิบง คาดป่วยตามธรรมชาติ
ข่าวที่น่าสนใจ
เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ชี้แจง ผลการชันสูตรซาก “พะยูน” เกยตื้นบริเวณหน้าหาดหยงหลำ ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมา จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นซากพะ ยูน เพศผู้ ช่วงโตเต็มวัย สภาพซากเริ่มเน่า ความสมบูรณ์ของร่างกายสมบูรณ์ปานกลาง เขี้ยวอยู่ครบสมบูรณ์ทั้ง 2 ข้าง
ลักษณะภายนอกพบรอยเขี้ยวบริเวณด้านหลังและบริเวณอกระหว่างครีบ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมภายในฝูงของพะ ยูน พบเพรียงขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วลำตัวบ่งบอกว่า สัตว์อยู่นิ่งเป็นเวลานาน เนื่องจากมีอาการป่วย พบบาดแผลถูกเงี่ยงปลากระเบนขนาด 1.5 ซม. แทงทะลุชั้นผิวหนังจนถึงกล้ามเนื้อบริเวณด้านใต้ท้องส่วนท้าย ไม่พบบาดแผลฉกรรจ์ภายนอกร่างกาย
เมื่อเปิดผ่าดูอวัยวะภายในพบว่า หัวใจไม่มีเลือดคั่ง เนื้อเยื่อปอดสีแดงไม่สม่ำเสมอ ปอดจมน้ำ มีน้ำคั่งภายในช่องอกปริมาณมาก บ่งบอกว่า ปอดเกิดภาวะอักเสบ
- ต่อมน้ำเหลืองขยายขนาดใหญ่
- ตับสีไม่สม่ำเสมอ
ส่วนของทางเดินอาหารพบอาหารจำพวกหญ้าทะเลในกระเพาะอาหารเพียงเล็กน้อย บ่งบอกว่า สัตว์ไม่ได้กินอาหารเป็นระยะเวลานาน และพบพยาธิตัวกลมภายในกระเพาะอาหารและลำไส้จำนวนมาก ไม่พบสิ่งแปลกปลอมในทางเดินอาหาร
สรุปสาเหตุการเสียชีวิตคาดว่า สัตว์ป่วยตามธรรมชาติ เนื่องจาก ความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร และจากการถูกเงี่ยงกระเบนแทง ซึ่งอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบภายในร่างกาย ทำให้สัตว์ป่วยไม่สามารถกินอาหารได้ จนสัตว์อ่อนแอและจมน้ำเสียชีวิตในที่สุด ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อและโครงกระดูกเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา ชาวประมงในพื้นที่พบพะ ยูนเกยตื้นลอยกลางทะเลที่จ.กระบี่เช่นกัน โดยเป็นพะ ยูนเพศเมีย พบหญ้าชะเงาเต่า (Thalassia hemprichii) อยู่ในช่องปากของพะ ยูน เมื่อเปิดผ่าดูอวัยวะภายในพบว่า
- กล้ามเนื้อมีรอยช้ำเล็กน้อยบริเวณด้านซ้ายของลำตัวส่วนท้าย
- มีน้ำในช่องอกและช่องท้องปริมาณมากสีน้ำตาลขุ่น
- พบคราบแผ่นหนองสีขาวเหลืองปกคลุมช่องท้องและทางเดินอาหารจำนวนมาก
- หัวใจมีเลือดคั่ง
- มีน้ำในถุงหุ้มหัวใจ ลิ้นหัวใจบวม
- เนื้อเยื่อปอดสีแดงเข้ม พบจุดเลือดออกกระจายเป็นหย่อม ๆ บ่งบอกการอักเสบของปอด
- ต่อมน้ำเหลืองขยายใหญ่ บ่งบอกถึงภาวะการติดเชื้อภายในร่างกาย
ส่วนของทางเดินอาหารพบอาหารอัดแน่นเต็มกระเพาะอาหาร พบเศษอวนเล็กน้อยภายในกระเพาะอาหารแต่ไม่ใช่สาเหตุการตาย สรุปสาเหตุการตายคาดว่าป่วยตามธรรมชาติ เนื่องจาก ภาวะช็อกจากการติดเชื้อภายในร่างกาย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ศวอล.ได้ทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการต่อไป
อย่างไรก็ตาม พะ ยูน เป็นสัตว์ป่าสงวนของไทย และเป็นสัตว์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ (Vulnerable) ของโลก ปัจจุบัน ต้องเผชิญภัยคุกคามจากมลพิษ การประมง การถูกเรือชน และอื่น ๆ ทั้งนี้ ในประเทศไทยพบพะ ยูนได้มากในจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดในการอนุรักษ์อีกด้วย
ข้อมูล : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง